นายจ้างจะอาศัยสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงานในการเก็บข้อมูลสแกนลายนิ้วมือหรือใบหน้าของลูกจ้าง เพื่อการตรวจสอบเวลาการเข้า-ออกงาน โดยไม่ขอความยินยอมจากลูกจ้างได้หรือไม่

325 Views
ปัจจุบันการยืนยันตัวตนโดยการสแกนลายนิ้วมือหรือใบหน้าเป็นที่นิยม เพราะมีความสะดวก เที่ยงตรง และไม่สามารถกระทำการแทนกันได้ อย่างไรก็ดี การสแกนลายนิ้วมือหรือใบหน้านั้นเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลชีวภาพ (biometrics) ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือ PDPA จึงมีคำถามว่า นายจ้างจะอาศัยสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงานในการเก็บข้อมูลสแกนลายนิ้วมือหรือใบหน้าของลูกจ้าง เพื่อการตรวจสอบเวลาการเข้า-ออกงาน โดยไม่ขอความยินยอมจากลูกจ้างได้หรือไม่ แอดมินมีคำตอบครับ
 
พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มาตรา 26 วรรค 1 มีหลักว่า “ห้ามมิให้เก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ความคิดเห็นทางการเมือง ความเชื่อในลัทธิ ศาสนาหรือปรัชญา พฤติกรรมทางเพศ ประวัติอาชญากรรม ข้อมูลสุขภาพ ความพิการ ข้อมูลสหภาพแรงงาน ข้อมูลพันธุกรรม ข้อมูลชีวภาพ หรือข้อมูลอื่นใดซึ่งกระทบต่อเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลในทำนองเดียวกันตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด โดยไม่ได้รับความยินยอมโดยชัดแจ้งจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล.........” และมาตรา 84 มีหลักว่า “ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 26 วรรค 1.......ต้องระวางโทษปรับทางปกครองไม่เกิน 5,000,000 บาท” จากคำถามดังกล่าวข้างต้น นายจ้างจึงไม่สามารถอาศัยสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงานแต่เพียงอย่างเดียว การที่นายจ้างประสงค์จะเก็บข้อมูลสแกนลายนิ้วมือหรือใบหน้าของลูกจ้าง เพื่อตรวจสอบเวลาการเข้า-ออกงาน จึงต้องขอความยินยอมโดยชัดแจ้ง (เป็นลายลักษณ์อักษร โดยมีแบบฟอร์มการขอความยินยอม (Consent Form) แยกส่วนออกจากข้อความอื่นอย่างชัดเจน) จากลูกจ้างก่อนเสมอ หากฝ่าฝืนอาจต้องรับโทษปรับทางปกครองสูงสุดถึง 5,000,000 บาท อย่างไรก็ดี กฎหมายฉบับนี้จะมีการใช้บังคับในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป

บทความอื่นๆ