กรณีซื้อขายที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น ผู้ซื้อมีสิทธิจะได้กรรมสิทธิ์หรือไม่ หากไม่ได้กรรมสิทธิ์ผู้ซื้อจะได้รับราคาที่ดินที่ชำระไปแล้วคืนหรือไม่

431 Views
ที่ดินทรัพย์สินของแผ่นดินนั้นมี 2 ประเภทคือ ที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินตามธรรมดา ได้แก่ที่ดินที่รัฐถือไว้อย่างที่ดินของเอกชน เช่น ที่ราชพัสดุซึ่งให้เอกชนเช่า และที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งมีหลักอยู่ในป.พ.พ. มาตรา 1304 ได้แก่ (1) ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้งหรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่นตามกฎหมายที่ดิน (2) ที่ดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นต้นว่า ที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ และ (3) ที่ดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ จึงมีคำถามว่า กรณีซื้อขายที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น ผู้ซื้อมีสิทธิจะได้กรรมสิทธิ์หรือไม่ หากไม่ได้กรรมสิทธิ์ผู้ซื้อจะได้รับราคาที่ดินที่ชำระไปแล้วคืนหรือไม่
 
ป.พ.พ.มาตรา 1305 มีหลักว่า “ทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา” การซื้อขายที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เป็นการทำนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย สัญญาซื้อขายดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะและมีผลเป็นการเสียเปล่า เท่ากับมิได้มีการทำสัญญาซื้อขายกัน และต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรมให้แก่กันโดยนำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับตามมาตรา 172 โดยอนุโลม แต่การที่ผู้ซื้อชำระราคาที่ดินให้แก่ผู้ขายตามสัญญาซื้อขายโดยรู้อยู่แล้วว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ ถือว่าเป็นการกระทำตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเป็นการกระทำเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ทั้งยังเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตามมาตรา 407 และมาตรา 411 ผู้ซื้อจึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับคืนราคาที่ดินที่ชำระแก่ผู้ขายแต่อย่างใด
 
(เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7464/2555)