นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุเป็นชู้กันในที่ทำงานได้หรือไม่

1652 Views
สภาพการทำงานในปัจจุบันที่เราคุ้นเคยกันดี คือการทำงานวันละไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมง หรือสัปดาห์หนึ่งไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมง เมื่อหักเวลาเดินทางกับเวลาพักผ่อนออกไป ลูกจ้างส่วนใหญ่จึงใช้เวลาอยู่ในที่ทำงานมากกว่าที่บ้าน การพบรักในที่ทำงานจึงเป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ดี หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่าย มีภริยาหรือสามีอยู่แล้ว ย่อมไม่ใช่เรื่องที่ปกติอีกต่อไป จึงมีคำถามว่า นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุเป็นชู้กันในที่ทำงานได้หรือไม่ แอดมินมีคำตอบครับ
 
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 มีหลักว่า “นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้.....(4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกิน 1 ปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด” และพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 มีหลักว่า “การพิจารณาคดีในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทำงานต่อไป ในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทน โดยให้ศาลคำนึงถึงอายุของลูกจ้าง ระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้าง และเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ ประกอบการพิจารณา” จากหลักกฎหมายดังกล่าวมีความหมายว่า ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้าง ว่าด้วยกฎระเบียบทางวินัย ได้กำหนดขึ้นเพื่อเป็นแนวทางให้ลูกจ้าง ละเว้น หรือหลีกเลี่ยงการกระทำอันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชื่อเสียง ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์ของนายจ้าง หรือการกระทำอันเป็นการขัดต่อศีลธรรมประเพณีอันดีงาม ลูกจ้างทุกคนจึงต้องไม่กระทำการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับดังกล่าว ทั้งในเวลาทำงานหรือนอกเวลาทำงาน ถ้าลูกจ้างกระทำการใดที่อาจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียง หรือในทางอื่นใดแล้ว นายจ้างย่อมมีอำนาจพิจารณาลงโทษตามระเบียบข้อบังคับนั้นได้  การที่ลูกจ้างเป็นชู้กันในที่ทำงาน ถือได้ว่าเป็นการไม่รักษาเกียรติ และเป็นการประพฤติชั่ว ซึ่งเป็นการละเมิดต่อศีลธรรมอันดีอย่างร้ายแรง และส่งผลกระทบโดยตรงต่อการปกครองบังคับบัญชา รวมทั้งชื่อเสียงของนายจ้าง อีกทั้งยังเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีแก่ลูกจ้างอื่นๆ ด้วย การกระทำของลูกจ้างจึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างเป็นกรณีร้ายแรง การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุดังกล่าว จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแต่อย่างใด และกรณีไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 อีกด้วย นายจ้างจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายแก่ลูกจ้าง สำหรับกรณีของข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ การมีชู้ถือเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงเช่นเดียวกัน ส่วนการลงโทษนั้น แนวปฏิบัติคือการไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากงาน ขึ้นอยู่กับว่าในขณะเป็นชู้นั้น รู้หรือไม่ว่าหญิงหรือชายนั้นมีสามีหรือภริยาอยู่แล้ว หรือมีเหตุลดโทษอย่างอื่น แล้วแต่พฤติการณ์ของการกระทำเป็นเรื่องๆ ไป
 
( เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5609/2542)

บทความอื่นๆ