ลูกจ้างขาดงาน 3 วันทำงานติดต่อกันเพราะฝนตกน้ำท่วมไม่สามารถไปทำงานได้โดยไม่แจ้งเหตุให้นายจ้างทราบ ถือเป็นการขาดงานหรือละทิ้งหน้าที่ซึ่งนายจ้างจะลงโทษลูกจ้างได้หรือไม่

319 Views
จากสถานการณ์ฝนตกหนักในช่วงนี้ทำให้เกิดภาวะอุทกภัยขึ้นในหลายพื้นที่ จนส่งผลให้ลูกจ้างเป็นจำนวนมากไม่สามารถเดินทางไปทำงานได้ เมื่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานมีการกำหนดว่าการขาดงานโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรถือเป็นการละทิ้งหน้าที่ซึ่งลูกจ้างจะต้องถูกพิจารณาลงโทษทางวินัย จึงมีคำถามว่า ลูกจ้างขาดงาน 3 วันทำงานติดต่อกันเพราะฝนตกน้ำท่วมไม่สามารถไปทำงานได้โดยไม่แจ้งเหตุให้นายจ้างทราบ ถือเป็นการขาดงานหรือละทิ้งหน้าที่ซึ่งนายจ้างจะลงโทษลูกจ้างได้หรือไม่
 
คำว่า “เหตุสุดวิสัย” ตาม ป.พ.พ.มาตรา 8 หมายความว่า “เหตุใดๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้นจะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น” กรณีเกิดฝนตกหนักรุนแรงหรือผิดปกติก่อให้เกิดอุทกภัยหรือน้ำท่วมฉับพลัน ถือเป็นภัยธรรมชาติซึ่งไม่ใช่ความผิดของลูกจ้าง เมื่อลูกจ้างขาดงานเพราะฝนตกน้ำท่วมไม่สามารถไปทำงานได้จึงไม่ถือเป็นการขาดงานหรือละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร นายจ้างจึงไม่มีสิทธิลงโทษลูกจ้าง หรือนำมาเป็นเหตุออกหนังสือเตือน รวมถึงการเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้ # อย่างไรก็ดี การที่ลูกจ้างไม่เดินทางไปทำงานโดยไม่แจ้งสาเหตุให้นายจ้างทราบเป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกัน แสดงว่าลูกจ้างคำนึงถึงความจำเป็นของตนเป็นประการสำคัญโดยไม่สนใจงานที่ต้องทำให้แก่นายจ้างหรือความเดือดร้อนของนายจ้างที่มีสาเหตุจากน้ำท่วมเช่นเดียวกัน จึงเป็นกรณีลูกจ้างละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร นายจ้างจึงเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119(5)
# กล่าวโดยสรุปคือ แม้ลูกจ้างจะขาดงานเพราะฝนตกน้ำท่วมไม่สามารถไปทำงานได้ก็ควรที่จะต้องแจ้งนายจ้างให้ทราบถึงเหตุและความจำเป็นดังกล่าวด้วย
 
(เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18891 - 18896/2557 และ 1194/2531)
 
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ

บทความอื่นๆ