กรณีขับรถชนกับรถที่ขี่ย้อนศรนั้น ฝ่ายใดจะต้องรับผิด

2059 Views
ประโยคที่ว่า “ทำอะไรตามใจคือไทยแท้” ด้านหนึ่งแสดงถึงความมีอิสรเสรีของคนไทย แต่อีกด้านหนึ่งกลับสะท้อนให้เห็นถึงความไม่มีวินัย การไม่เคารพสิทธิของผู้อื่น และการไม่มีมารยาททางสังคม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นโดยเฉพาะการแสดงออกในที่สาธารณะ พฤติกรรมการขี่รถย้อนศรโดยเฉพาะรถจักรยานยนต์จึงเป็นภาพที่ชินตาสำหรับคนไทย อย่างไรก็ดี พฤติกรรมดังกล่าวถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร และอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นอีกด้วย จึงมีคำถามว่า กรณีขับรถชนกับรถที่ขี่ย้อนศรนั้น ฝ่ายใดจะต้องรับผิด แอดมินมีคำตอบครับ
 
พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 41 มีหลักว่า “ทางเดินรถใดที่มีเครื่องหมายจราจรให้เป็นทางเดินรถทางเดียว ให้ผู้ขับขี่ขับรถไปตามทิศทางที่ได้กำหนดไว้” และมาตรา 43 มีหลักว่า “ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถ ..โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น” จากกฎหมายดังกล่าว การขี่รถย้อนศร หรือสวนทาง บนถนนเดินรถทางเดียว (ทางเดินรถที่กำหนดให้ผู้ขับรถขับไปในทิศทางเดียวกัน) จึงมีความผิดฐานฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 148 ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท และมาตรา 160 วรรค 3 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 2,000-10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ดี แม้ผู้ที่ขี่รถย้อนศรจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 และมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยก็ตาม แต่ก็ไม่ทำให้ผู้ขับขี่อีกฝ่ายหนึ่งที่ขับชนกับรถที่ขี่ย้อนศรนั้น หลุดพ้นจากความรับผิดในทางอาญาของตนเองที่เกิดจากการกระทำโดยเจตนาหรือความประมาทแต่อย่างใด นอกจากนี้ ผู้ที่ขับชนยังอาจต้องรับผิดในทางแพ่งอีกด้วย เพราะในการเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่งนั้น จะต้องพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ในการขับขี่รถของทั้งสองฝ่ายว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงใด ดังนั้น หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าทั้งสองฝ่ายก่อให้เกิดความเสียหายไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันแล้ว จึงไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายต่อกันได้
 
(เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17868/2556)

บทความอื่นๆ