พินัยกรรมที่ผู้ตายเขียนเองทั้งฉบับกับพินัยกรรมที่ผู้ตายทำขึ้นโดยใช้พิมพ์ดีดทั้งฉบับจะต้องมีพยาน 2 คนรับรองลายมือชื่อด้วยหรือไม่

785 Views
แอดมินเชื่อว่าละครหลังข่าวที่พวกเราทุกคนเคยดูจะต้องมีซักเรื่องหนึ่งที่มีการแย่งชิงมรดกระหว่างทายาทตัวจริงกับทายาทตัวปลอม และข้อกล่าวหาที่มักจะถูกหยิบยกขึ้นอ้างก็คือ “พินัยกรรมของผู้ตายที่ถูกนำมาเปิดเผยนั้นไม่มีผลตามกฎหมาย” เพราะเหตุต่างๆ นานา เช่น ผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมเอาไว้ หรือพินัยกรรมเป็นของปลอม หรือแม้กระทั่งพินัยกรรมดังกล่าวไม่มีพยานรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรม จึงมีคำถามว่า พินัยกรรมที่ผู้ตายเขียนเองทั้งฉบับกับพินัยกรรมที่ผู้ตายทำขึ้นโดยใช้พิมพ์ดีดทั้งฉบับจะต้องมีพยาน 2 คนรับรองลายมือชื่อด้วยหรือไม่
 
ป.พ.พ.มาตรา 1656 มีหลักว่า  “พินัยกรรมนั้น จะทำตามแบบดังนี้ก็ได้ กล่าวคือต้องทำเป็นหนังสือลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำขึ้น และผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คนพร้อมกัน ซึ่งพยาน 2 คนนั้นต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น ทั้งนี้ การขูดลบ ตก เติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่จะได้ปฏิบัติตามแบบอย่างเดียวกับการทำพินัยกรรมตามมาตรานี้” ส่วนมาตรา 1657 มีหลักว่า “พินัยกรรมนั้น จะทำเป็นเอกสารเขียนเองทั้งฉบับก็ได้ กล่าวคือผู้ทำพินัยกรรมต้องเขียนด้วยมือตนเองซึ่งข้อความทั้งหมด วัน เดือน ปี และลายมือชื่อของตน ทั้งนี้ การขูดลบ ตก เติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมจะได้ทำด้วยมือตนเอง และลงลายมือชื่อกำกับไว้ อนึ่ง บทบัญญัติมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายนี้ มิให้ใช้บังคับแก่พินัยกรรมที่ทำขึ้นตามมาตรานี้” จากหลักกฎหมายดังกล่าวจึงอาจสรุปได้ว่า กฎหมายเพียงบัญญัติให้ผู้ทำพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับต้องเขียนพินัยกรรมด้วยมือตนเองซึ่งข้อความทั้งหมด วัน เดือน ปี และลายมือชื่อของตนเท่านั้น หาได้บังคับให้ต้องมีพยานรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไม่ ส่วนพินัยกรรมที่ผู้ตายทำขึ้นโดยใช้พิมพ์ดีดทั้งฉบับ ย่อมไม่ใช่พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ คงเป็นแต่พินัยกรรมแบบธรรมดาตามมาตรา 1656 ที่ต้องมีพยานรู้เห็นขณะทำพินัยกรรมและผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คนพร้อมกัน
 
(เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1900/2552 และ 2102/2551)

บทความอื่นๆ