ลาป่วยติดต่อกัน 3 วันทำงานแต่ไม่มีใบรับรองแพทย์ จะถือเป็นการขาดงานและถูกหักค่าจ้างหรือไม่

396 Views
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 32 ว.1 มีหลักว่า “ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง การลาป่วยตั้งแต่ 3 วันทำงานขึ้นไป นายจ้างอาจให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองของแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งหรือของสถานพยาบาลของทางราชการ ในกรณีที่ลูกจ้างไม่อาจแสดงใบรับรองของแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งหรือของสถานพยาบาลของทางราชการได้ ให้ลูกจ้างชี้แจงให้นายจ้างทราบ” และมาตรา 57 ว.1 มีหลักว่า “ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลาป่วยตามมาตรา 32 เท่ากับอัตราค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ปีหนึ่งต้องไม่เกิน 30 วันทำงาน” การลาป่วยตามมาตรา 32 นี้ กำหนดไว้เพื่อคุ้มครองลูกจ้างที่เจ็บป่วยไม่สามารถมาทำงานได้จะได้หยุดงานโดยไม่ถูกนายจ้างลงโทษทางวินัยฐานขาดงานหรือละทิ้งหน้าที่ และในขณะเดียวกันก็คุ้มครองรายได้ของลูกจ้างในระหว่างที่หยุดงานนั้นด้วย คำว่า “ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง” หมายถึง มีสิทธิลาป่วยได้จนกว่าจะหายป่วยหรือถึงแก่ความตาย แม้กฎหมายจะให้สิทธินายจ้างที่จะเรียกให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองแพทย์ได้เมื่อลาป่วยตั้งแต่ 3 วันทำงานขึ้นไป แต่ก็มิได้บังคับว่าลูกจ้างต้องนำใบรับรองแพทย์มาแสดงเสมอไป กรณีลูกจ้างไม่มีใบรับรองแพทย์มาแสดง กฎหมายก็ยังให้โอกาสลูกจ้างชี้แจงให้นายจ้างทราบได้ ดังนั้น การที่นายจ้างนำเรื่องใบรับรองแพทย์มาเป็นเงื่อนไขในการขาดงานและไม่จ่ายค่าจ้างในวันลาป่วยให้แก่ลูกจ้างจึงขัดต่อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ระเบียบหรือข้อบังคับของนายจ้างในส่วนนี้ (หากมี) จึงตกเป็นโมฆะและไม่อาจใช้บังคับได้ # อย่างไรก็ดี กรณีลูกจ้างขอใช้สิทธิลาป่วยตั้งแต่ 3 วันทำงานขึ้นไป แต่ไม่มีใบรับรองแพทย์มาแสดงตามที่อ้าง ถือเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม ซึ่งนายจ้างมีสิทธิที่จะตักเตือนเป็นหนังสือได้
 
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ

บทความอื่นๆ