ความผิดฐานไม่กระทำหน้าที่พลเมืองดี
ความผิดฐานไม่กระทำหน้าที่พลเมืองดี
378 Views
บุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิและเสรีภาพตามที่ได้รับความคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญ การใดที่ไม่ได้ห้ามไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะกระทำการนั้นได้ ตราบเท่าที่ไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดต่อสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น # ในการวินิจฉัยความรับผิดทางอาญานั้น บุคคลจะมีความผิดและต้องรับโทษก็ต่อเมื่อมีการกระทำครบองค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติ และการกระทำดังกล่าวไม่มีกฎหมายยกเว้นความผิดหรือยกเว้นโทษ ทั้งนี้ โดยหลักแล้วการกระทำ คือการเคลื่อนไหวร่างกาย ส่วนการไม่เคลื่อนไหวร่างกายนั้นถือเป็นข้อยกเว้น กล่าวโดยเฉพาะถึงการไม่เคลื่อนไหวร่างกาย การกระทำโดยงดเว้นและการกระทำโดยละเว้นมีความแตกต่างกันตรงที่การกระทำโดยงดเว้นเป็นการไม่กระทำหน้าที่ที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผล ได้แก่ หน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด หน้าที่อันเกิดจากการยอมรับโดยเฉพาะเจาะจง หน้าที่อันเกิดจากการกระทำครั้งก่อนๆ ของตน หรือหน้าที่อันเกิดจากความสัมพันธ์พิเศษอันก่อให้เกิดหน้าที่ เพื่อป้องกันมิให้ผลเกิดขึ้น ส่วนการกระทำโดยละเว้นนั้นเป็นการไม่กระทำหน้าที่โดยทั่วๆ ไปที่กฎหมายบัญญัติไว้เพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เช่น เพียงแต่พบเห็นผู้อื่นกำลังจะจมน้ำแต่ไม่ช่วยเหลือทั้งที่สามารถจะช่วยได้จนผู้นั้นถึงแก่ความตาย การกระทำดังกล่าวย่อมมีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 374 ซึ่งมีหลักว่า “ผู้ใดเห็นผู้อื่นตกอยู่ในภยันตรายแห่งชีวิตซึ่งตนอาจช่วยได้โดยไม่ควรกลัวอันตรายแก่ตนเองหรือผู้อื่น แต่ไม่ช่วยตามความจำเป็น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” เพราะบุคคลนั้นไม่ได้มีหน้าที่ที่จะต้องป้องกันผลร้ายอันอาจเกิดขึ้นต่อชีวิตของผู้อื่น เพียงแต่ไม่กระทำหน้าที่ของพลเมืองดีเท่านั้น แต่หากข้อเท็จจริงมีว่า การจมน้ำดังกล่าวเกิดจากการหนีการทำร้ายร่างกายจนผู้นั้นต้องตัดสินใจกระโดดลงไปในน้ำจนจมน้ำถึงแก่ความตาย ผู้กระทำย่อมมีความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายตามมาตรา 290 หรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตามมาตรา 288 ซึ่งต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 3 - 20 ปี แล้วแต่กรณี
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” นะครับ
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” นะครับ