คำว่า "ในทางการที่จ้าง" มีขอบเขตเพียงใด

1941 Views
ลูกจ้างขับรถยนต์ของนายจ้างไปทำงานในช่วงเวลา 9.00-18.00 น. หลังเลิกงานได้นำรถยนต์คันดังกล่าวไปเที่ยวผับคาราโอเกะและเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนกับผู้ที่เดินอยู่ริมทางเท้าเวลา 2.00 น.ของวันรุ่งขึ้น มีคำถามว่า นายจ้างจะต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างในความเสียหายที่เกิดจากการกระทำละเมิดของลูกจ้างหรือไม่
 
ป.พ.พ.มาตรา 425 มีหลักว่า “นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น” ความหมายของคำว่า "ในทางการที่จ้าง" มิได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะในเวลาทำงานของนายจ้างหรือระหว่างเวลาที่ต่อเนื่องคาบเกี่ยวใกล้ชิดกันกับการปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างเท่านั้น เมื่อลูกจ้างที่มีหน้าที่ขับรถและได้กระทำไปในทางการที่จ้างแล้ว หลังจากนั้น แม้ลูกจ้างจะได้ขับรถไปทำธุรกิจส่วนตัวหรือประการใดก็ตาม ตราบใดที่ลูกจ้างยังมิได้นำรถกลับคืนสู่ความครอบครองของนายจ้าง ก็ยังคงถือว่าอยู่ในระหว่างทางการที่จ้างหรือต่อเนื่องกับทางการที่จ้างซึ่งนายจ้างยังคงต้องรับผิดในการกระทำละเมิดของลูกจ้าง ดังนั้น แม้ขณะเกิดเหตุจะเป็นเวลา 2.00 น. ของวันรุ่งขึ้น นอกเวลาทำงานปกติ และลูกจ้างขับรถยนต์คันดังกล่าวไปเที่ยวผับคาราโอเกะซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัว ก็ถือได้ว่าลูกจ้างขับรถยนต์คันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของนายจ้าง นายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างในความเสียหายที่เกิดจากการกระทำละเมิดของลูกจ้างนั้นด้วย
 
(เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4786/2558)
 
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ

บทความอื่นๆ