การที่นายจ้างจ่ายค่าชดเชยไม่ครบและไม่จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้างตามกฎหมาย เมื่อลูกจ้างร้องเรียนต่อพนักงานตรวจแรงงานแล้ว ยังมีสิทธินำคดีไปฟ้องต่อศาลแรงงานเรียกค่าเสียหายในกรณีการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมได้อีกหรือไม่

362 Views
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย ภายหลังการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน หลายบริษัทต้องต้องปิดตัวลง ในขณะที่อีกหลายธุรกิจมีความจำเป็นต้องออกนโยบายรัดเข็มขัด งดโบนัส ลดเงินเดือนพนักงาน หรือการเลิกจ้างพนักงานบางตำแหน่ง เพื่อให้ธุรกิจยังคงอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ถึงเหตุผลและความจำเป็นดังกล่าว อย่างไรก็ดี ยังคงมีนายจ้างอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงมีคำถามว่า การที่นายจ้างจ่ายค่าชดเชยไม่ครบและไม่จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้างตามกฎหมาย เมื่อลูกจ้างร้องเรียนต่อพนักงานตรวจแรงงานแล้ว ยังมีสิทธินำคดีไปฟ้องต่อศาลแรงงานเรียกค่าเสียหายในกรณีการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมได้อีกหรือไม่
 
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 123 ถึง 125 มีลักษณะกำหนดให้ลูกจ้างจะต้องเลือกใช้สิทธิทางใดทางหนึ่งระหว่างใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลแรงงานหรือจะยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานก็ได้แต่เพียงทางเดียว แต่จะใช้สิทธิพร้อมกันทั้งสองทางไม่ได้ การที่ลูกจ้างยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานขอให้บังคับนายจ้างจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าอันเป็นเงินตามสิทธิใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 แล้ว ถือว่าลูกจ้างเลือกใช้สิทธิที่จะดำเนินการต่อนายจ้างด้วยการยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ลูกจ้างจึงไม่มีสิทธิที่จะนำคดีไปฟ้องต่อศาลแรงงานได้อีกจนกว่าการดำเนินการของพนักงานตรวจแรงงานจะสิ้นสุดลง อย่างไรก็ดี การที่ลูกจ้างฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น เป็นการฟ้องเรียกตามสิทธิในมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มิใช่ฟ้องตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ศาลแรงงานจึงมีอำนาจรับคดีไว้พิจารณาพิพากษาได้
 
(เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 238/2545)
 
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ