การที่ตำรวจเห็นการฆ่าคนโดยเจตนา แต่ไม่จับกุม กลับขนย้ายศพของผู้ตายไปทิ้งและเช็ดคราบเลือดเพื่อช่วยผู้กระทำความผิด จะมีความผิดอาญาฐานใดบ้าง และศาลจะลงโทษอย่างไร

390 Views
ตำรวจมีอำนาจและหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน เปรียบเสมือนต้นน้ำของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ในทุกๆ คดีจึงอยู่กับต้นน้ำ ทั้งในเรื่องการสอบสวนก่อนการพิจารณาความเห็นเพื่อส่งสำนวนต่อให้กับพนักงานอัยการและศาลเพื่อพิจารณาและพิพากษาคดีต่อไป ดังนั้น หากต้นน้ำเสียไปแล้ว กลางน้ำและปลายน้ำย่อมไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนได้ จึงมีคำถามว่า การที่ตำรวจเห็นการฆ่าคนโดยเจตนา แต่ไม่จับกุม กลับขนย้ายศพของผู้ตายไปทิ้งและเช็ดคราบเลือดเพื่อช่วยผู้กระทำความผิด จะมีความผิดอาญาฐานใดบ้าง และศาลจะลงโทษอย่างไร
 
การที่ตำรวจซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจสืบสวนสอบสวนและจับกุมผู้กระทำผิดเห็นการฆ่าคนโดยเจตนาแต่ไม่ทำการจับกุมมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามป.อ. มาตรา 157 และมาตรา 200 ทั้งยังขนย้ายศพของผู้ตายไปทิ้งเพื่อปิดบังการตายอันเป็นความผิดฐานซ่อนเร้น ย้ายหรือทำลายศพตามมาตรา 199 นอกจากนี้ยังเช็ดคราบเลือดเพื่อช่วยผู้กระทำความผิดอันเป็นความผิดฐานทำลายพยานหลักฐานในการกระทำผิดตามมาตรา 184 อีกด้วย อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นการกระทำหลายอย่าง แต่ก็ด้วยเจตนาอันเดียวกัน คือเพื่อช่วยเหลือมิให้ผู้กระทำผิดต้องรับโทษและเป็นการกระทำต่อเนื่องกัน จึงเป็นกรรมเดียวกันแต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามมาตรา 90 จึงต้องลงโทษตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบทหนัก
 
(เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1202/2520)

บทความอื่นๆ