การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (รัฐวิสาหกิจ) ยื่นฟ้องบริษัทผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต ขอให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและรื้อถอนสายสื่อสารโทรคมนาคมซึ่งพาดอยู่บนเสาไฟฟ้าโดยไม่มีอำนาจและมิได้รับอนุญาต ต้องฟ้องต่อศาลปกครองหรือศาลยุติธรรม

257 Views
ลักษณะของคดีปกครองตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 แบ่งออกได้เป็น 5 ประเภท คือ 1. คดีพิพาทอันเนื่องมาจากการกระทำทางปกครองฝ่ายเดียว 2. คดีพิพาทอันเนื่องมาจากการละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร 3. คดีพิพาทอันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดทางปกครองหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือความเสียหายเกิดจากการออกกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือเป็นกรณีที่หน่วยงานทางปกครองละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร 4. คดีพิพาทอันสืบเนื่องมาจากสัญญาทางปกครอง และ 5. คดีพิพาททางปกครองอื่นๆ จึงมีคำถามว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (รัฐวิสาหกิจ) ยื่นฟ้องบริษัทผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต ขอให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและรื้อถอนสายสื่อสารโทรคมนาคมซึ่งพาดอยู่บนเสาไฟฟ้าโดยไม่มีอำนาจและมิได้รับอนุญาต ต้องฟ้องต่อศาลปกครองหรือศาลยุติธรรม แอดมินมีคำตอบครับ
 
แม้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะเป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดย พ.ร.บ.การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2503 มีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าโดยรัฐเป็นเจ้าของกิจการ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 แต่เหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากการที่บริษัทพาดสายสื่อสารโทรคมนาคมบนเสาไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคโดยไม่ได้รับอนุญาต เนื้อหาในคดีจึงเป็นกรณีที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคฟ้องขอให้บริษัทรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและให้รื้อถอนสายสื่อสารโทรคมนาคมที่พาดบนเสาไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเนื่องมาจากการกระทำละเมิด และเป็นกรณีที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคใช้สิทธิเรียกร้องเอาแก่บริษัทในฐานะเอกชนทั่วไปซึ่งไม่เข้าลักษณะคดีพิพาทซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา 9 ว.1 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและงดเว้นกระทำการอันเกิดจากมูลละเมิดซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
 
(เทียบเคียงคำวินิจฉัยที่ 1/2564)
 
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ