หนังสือมอบอำนาจเป็นเอกสารสิทธิหรือไม่

499 Views
การมอบอำนาจตามความหมายแห่ง ป.พ.พ.มาตรา 797 หมายถึงการที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดที่มีอำนาจในทางกฎหมายในเรื่องหนึ่งเรื่องใดโดยชอบ มอบให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้ใช้อำนาจแทนตนเอง เป็นการเฉพาะเรื่อง หรือเป็นการทั่วไปภายในขอบเขตอำนาจและระยะเวลาที่กำหนดไว้ และมาตรา 798 ก็ได้ระบุถึงการที่กิจการอันใดที่กฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือ การมอบอำนาจย่อมจะต้องทำเป็นหนังสือด้วย เมื่อการจะมอบอำนาจให้แก่บุคคลใดถือเป็นสิทธิของผู้มอบอำนาจ จึงมีคำถามว่า หนังสือมอบอำนาจเป็นเอกสารสิทธิหรือไม่
 
ป.อ. มาตรา 1(9) ได้ให้คำนิยามของคำว่า “เอกสารสิทธิ” ไว้ว่าหมายถึง เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ จากคำถามข้างต้น หนังสือมอบอำนาจเป็นเพียงเอกสารที่บุคคลหนึ่งเป็นผู้มอบอำนาจมอบหมายให้บุคคลอีกคนหนึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจให้มีอำนาจจัดการทำนิติกรรมแทน มิได้เป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ หนังสือมอบอำนาจจึงไม่เป็นเอกสารสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 1(9) # การปลอมหนังสือมอบอำนาจจึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมแปลงเอกสารสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 265 ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 บาทถึง 100,000 บาท แต่เป็นการปลอมเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 264 ว.1 ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
 
(เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3448/2551 และ 2347/2561)
 
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ

บทความอื่นๆ