การลาออกต้องขออนุญาตนายจ้างหรือไม่

385 Views
ความรักกับการทำงานมีความเหมือนกันอยู่ประการหนึ่ง คือ ตอนตกลงปลงใจคบหากันต้องอาศัยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย เพราะการตบมือข้างเดียวนั้นย่อมจะไม่สมหวังอย่างแน่นอน อย่างไรก็ดี เมื่อถึงวันหนึ่งที่ความรักจืดจางลง หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหมดรัก หรืออยู่ไปก็มองไม่เห็นอนาคต อาจนำไปสู่การยุติความสัมพันธ์ของคู่รักและเลิกรากันในที่สุด ในชีวิตการทำงานก็เช่นกัน หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตัดสินใจที่จะยุติความสัมพันธ์ ย่อมสามารถทำได้โดยการบอกเลิกคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง จึงมีคำถามว่า การลาออกต้องขออนุญาตนายจ้างหรือไม่ แอดมินมีคำตอบครับ
 
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรค 2 มีหลักว่า “ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา นายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้ แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกิน 3 เดือน ทั้งนี้ ให้ถือว่าสัญญาจ้างทดลองงานเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาด้วย” ส่วน ป.พ.พ มาตรา 852 มีหลักว่า “ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไร ท่านว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทำได้ แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่า 3 เดือน อนึ่ง ในเมื่อบอกกล่าวดังว่านี้ นายจ้างจะจ่ายสินจ้างแก่ลูกจ้างเสียให้ครบจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวนั้นทีเดียว แล้วปล่อยลูกจ้างจากงานเสียในทันทีก็อาจทำได้” จากหลักกฎหมายดังกล่าว จึงสรุปได้ว่า ในกรณีที่เป็นสัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา นายจ้างหรือลูกจ้างจะต้องบอกกล่าวล่วงหน้าให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบก่อนอย่างน้อย 1 งวดการจ่ายค่าจ้าง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไป อย่างไรก็ดี การลาออกจากงานของลูกจ้างนั้นถือเป็นนิติกรรมฝ่ายเดียว จึงไม่ต้องรอให้นายจ้างอนุมัติการลาออกก่อนแต่อย่างใด และแม้พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรค 2 จะระบุว่า ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา นายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบนั้น ก็มิได้ห้ามเด็ดขาดมิให้นายจ้างหรือลูกจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยวาจา ดังนั้น หากนายจ้างเห็นว่าการลาออกกระทำไม่ถูกต้องตามระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน เช่น ไม่แจ้งล่วงหน้า หรือแจ้งน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด ก็เป็นเรื่องที่จะต้องใช้สิทธิทางศาลเพื่อการเรียกร้องค่าเสียหายกันต่อไป อย่างไรก็ดี หากพิสูจน์ไม่ได้ว่าการลาออกดังกล่าว ทำให้นายจ้างเสียหายอย่างใด ย่อมไม่มีสิทธิที่จะได้รับค่าเสียหายดังกล่าว
 
(เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6701/2549 และ6020/2545)

บทความอื่นๆ