ไม่ล่ามสุนัขให้ดี จนไปกัดคนอื่น จะอ้างว่าไม่มีเจตนาได้หรือไม่

610 Views
ปัจจุบันสัตว์เลี้ยงได้เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตของคนไทย ทั้งในด้านความรู้สึกและความผูกพัน ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการที่มีคนโสด และคนไทยมีอายุยืนมากขึ้น จึงต้องการสัตว์เลี้ยงเพื่อมาเติมเต็มความสุขของตนเอง โดยสัตว์เลี้ยงที่ยังคงได้รับความนิยมมากที่สุด ได้แก่ สุนัข อย่างไรก็ดี เจ้าของหรือผู้ที่เลี้ยงสุนัขจะต้องศึกษาลักษณะนิสัยของสุนัขที่ตนเองเลี้ยง และต้องฝึกใช้ปลอกคอหรือโซ่ล่ามเพื่อมิให้สุนัขก่อความเดือดร้อนหรือรำคาญต่อคนอื่นได้ จึงมีคำถามว่า ไม่ล่ามสุนัขให้ดี จนไปกัดคนอื่น จะอ้างว่าไม่มีเจตนาได้หรือไม่
 
ป.อ. มาตรา 377 มีหลักว่า “ผู้ใดควบคุมสัตว์ดุหรือสัตว์ร้าย ปล่อยปละละเลยให้สัตว์นั้นเที่ยวไปโดยลำพัง ในประการที่อาจทำอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” บทบัญญัติดังกล่าว ได้แบ่งสัตว์ไว้เป็น 2 จำพวก คำว่า “สัตว์ร้าย” หมายความว่า โดยธรรมชาติของสัตว์นั้นเองเป็นสัตว์ที่มีนิสัยทั้งดุและร้ายกาจเป็นปกติอยู่ในตัว และเป็นสัตว์ที่เป็นภัยอันตรายอันน่าสะพรึงกลัวต่อบุคคลผู้ได้พบเห็น เช่น เสือ จระเข้ หรืองูพิษ เป็นต้น ส่วนคำว่า “สัตว์ดุ” นั้น หมายความว่า โดยธรรมชาติของสัตว์นั้นเองมิใช่สัตว์ร้าย แต่อาจเป็นสัตว์ดุซึ่งเจ้าของจะต้องมีการควบคุมดูแลเป็นพิเศษผิดจากปกติธรรมดา โดยการล่ามโซ่หรือขังกรงไว้ เช่น สุนัข เป็นต้น ความผิดฐานนี้ไม่ต้องอาศัยเจตนาของผู้กระทำความผิด เนื่องจากคำว่า “ปล่อยปละละเลย” ย่อมมีความหมายชัดเจนอยู่ในตัวว่าไม่มีเจตนา และบริบทแวดล้อมของบทบัญญัติมาตรานี้ ก็ไม่ได้สื่อถึงเจตนาของผู้กระทำความผิดแต่อย่างใด ดังนั้น แม้ผู้กระทำความผิดฐานนี้จะมีเจตนาหรือไม่ หรือเกิดจากความประมาท ก็ยังคงต้องรับผิดอยู่ดี # กรณีนี้ ผู้เสียหายมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้ควบคุมสัตว์ดังกล่าวหรือเจ้าของสัตว์ได้ด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ประกอบมาตรา 433 และขณะเกิดเหตุ หากจำเป็น สามารถฆ่าสัตว์นั้นเพื่อป้องกันอันตรายแก่ชีวิตหรือทรัพย์สินได้อีกด้วย โดยไม่ถือเป็นการทารุณกรรมสัตว์ ตามพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพของสัตว์ พ.ศ.2557 มาตรา 21(6)
 
(เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 162/2523 และ 151/2505)
 
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ

บทความอื่นๆ