ข้อตกลงยกที่ดินจำนวน 2 แปลง และบ้านอีก 1 หลัง ให้แก่บุตรในบันทึกการหย่าโดยมิได้จดทะเบียนการให้กับพนักงานเจ้าหน้าที่ ต่อมา หากมีการผิดสัญญา คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งสามารถฟ้องร้องให้ปฏิบัติตามสัญญาได้หรือไม่

314 Views
ถนนทุกสายไม่ได้มุ่งสู่กรุงโรมเสมอไป แต่ถนนทุกสายย่อมมีจุดสิ้นสุดของตัวมันเอง ความรักและชีวิตครอบครัวก็เช่นกัน ย่อมหนีไม่พ้นสัจธรรมในเรื่องนี้ การจากตายยังพอเข้าใจได้และไม่ค่อยมีปัญหา แต่กรณีจากเป็นกลับมีปัญหาในเรื่องการจัดการทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาที่เลิกรากันให้เห็นอยู่เสมอ และหากคู่สามีภริยามีบุตร นอกเหนือจากเรื่องของตนเองที่ว่ามีปัญหาแล้ว ก็จะยิ่งมีปัญหามากขึ้นไปอีก จึงมีคำถามว่า ข้อตกลงยกที่ดินจำนวน 2 แปลง และบ้านอีก 1 หลัง ให้แก่บุตรในบันทึกการหย่าโดยมิได้จดทะเบียนการให้กับพนักงานเจ้าหน้าที่ ต่อมา หากมีการผิดสัญญา คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งสามารถฟ้องร้องให้ปฏิบัติตามสัญญาได้หรือไม่ 
 
ป.พ.พ. มาตรา 525 มีหลักว่า “การให้ทรัพย์สินซึ่งถ้าจะซื้อขายกันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ย่อมสมบูรณ์ต่อเมื่อได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ในกรณีเช่นนี้ การให้ย่อมเป็นอันสมบูรณ์โดยมิพักต้องส่งมอบ” และมาตรา 374 มีหลักว่า “ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งทำสัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอก ท่านว่าบุคคลภายนอกมีสิทธิจะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้โดยตรงได้ และสิทธิของบุคคลภายนอกย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น” จากคำถามดังกล่าวข้างต้น ข้อตกลงยกที่ดินจำนวน 2 แปลง และบ้านอีก 1 หลัง ให้บุตรในบันทึกการหย่า เป็นสัญญาแบ่งทรัพย์ระหว่างสามีภรรยาตาม ป.พ.พ.มาตรา 1532 และเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 มิใช่สัญญาให้ จึงไม่ตกอยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 525 แม้จะไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ดังนั้น เมื่อมีการผิดสัญญา คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งย่อมมีอำนาจฟ้องให้ปฏิบัติตามสัญญาได้
 
(เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 38/2537)

บทความอื่นๆ