การขอเพิกถอนการโอนทรัพย์สินของลูกหนี้ตามกฎหมายล้มละลาย
การขอเพิกถอนการโอนทรัพย์สินของลูกหนี้ตามกฎหมายล้มละลาย
24 Views
สามีเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งจำนวน 71 ล้านบาทแต่ไม่ชำระหนี้ ต่อมา สามีและภริยาได้ตกลงจดทะเบียนหย่าและทำบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าในเรื่องแบ่งทรัพย์สินโดยสามีตกลงยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่ภริยาในวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 จากนั้น ภริยาได้นำที่ดินที่รับโอนดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองโดยเสียค่าตอบแทนไว้กับพี่ชายซึ่งอาศัยอยู่ด้วยกันในวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ต่อมา สามีถูกฟ้องล้มละลาย และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในวันที่ 31 มกราคม 2566 และมีคำพิพากษาให้สามีเป็นบุคคลล้มละลายในวันที่ 31 สิงหาคม 2567 หากเจ้าหนี้ทราบเรื่องบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าและการจดทะเบียนจำนองในวันที่ 31 ตุลาคม 2566 แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลต่อศาลล้มละลายกลางในวันที่ 31 ตุลาคม 2567 มีคำถามว่า อายุความแห่งการร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลเริ่มนับแต่เมื่อใด และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขอให้ศาลเพิกถอนการทำบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าในเรื่องแบ่งทรัพย์สินและการจำนองที่ดินดังกล่าวได้หรือไม่
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 มีหลักว่า “การขอให้ศาลเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ.นั้น ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอได้โดยทำเป็นคำร้อง ทั้งนี้ การขอให้เพิกถอนดังกล่าว ห้ามมิให้ขอเมื่อพ้น 1 ปีนับแต่เวลาที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน หรือพ้น 10 ปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมนั้น” และมาตรา 114 มีหลักว่า “ถ้านิติกรรมที่ขอเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา 113 นั้น เกิดขึ้นภายในระยะเวลา 1 ปีก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้น หรือเป็นการทำให้โดยเสน่หา หรือเป็นการที่ลูกหนี้ได้รับค่าตอบแทนน้อยเกินสมควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นการกระทำที่ลูกหนี้และผู้ที่ได้ลาภงอกแต่การนั้นรู้อยู่ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ” การเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ.มาตรา 237 เป็นเรื่องที่กฎหมายให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมอันลูกหนี้ได้กระทำกับผู้ได้ลาภงอก แต่เมื่อลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์แล้วตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำเป็นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลในคดีล้มละลายได้โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่ อย่างไรก็ดี การยื่นคำร้องดังกล่าวจะต้องการกระทำภายในอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่เจ้าหนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ.มาตรา 240 ประการสำคัญในขณะทำนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉลนั้นจะต้องมีผู้เป็นเจ้าหนี้ที่ได้รับผลกระทบซึ่งต้องเสียเปรียบจากการกระทำของลูกหนี้อยู่ก่อนแล้ว บันทึกท้ายทะเบียนการหย่าในเรื่องแบ่งทรัพย์สินโดยการยกทรัพย์สินของสามีให้แก่ภริยาโดยไม่มีค่าตอบแทนนั้นเป็นการกระทำที่สามีและภริยาผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นรู้อยู่ว่าเป็นทางที่ทำให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 114 และเมื่อเป็นการทำให้โดยเสน่หา สามีเป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวก็เพียงพอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 237 ว.1 ประกอบ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 นิติกรรมที่ภริยาจดทะเบียนรับโอนที่ดินอันเป็นการกระทำที่สืบเนื่องจากบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าในเรื่องแบ่งทรัพย์สินจึงต้องถูกเพิกถอน แม้ว่าทรัพย์สินนั้นอาจเป็นสินสมรสที่ภริยามีส่วนเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กรณีต้องไปว่ากล่าวกันเมื่อมีการขายทรัพย์สินในชั้นบังคับคดีตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 19 ว.3 และมาตรา 123 นอกจากนี้ แม้พี่ชายจะเป็นบุคคลภายนอกซึ่งรับจำนองที่ดินจากภริยาโดยเสียค่าตอบแทนก็ตาม แต่ในขณะที่รับจำนองนั้นพี่ชายอาศัยอยู่ด้วยกัน กรณีมีเหตุผลเชื่อได้ว่าพี่ชายทราบถึงภาวะการมีหนี้สินล้นพ้นตัวของสามี จึงต้องถือว่ารับจำนองไว้โดยไม่สุจริต พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินเพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับคดี เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงชอบที่จะขอให้เพิกถอนการจำนองที่ดินดังกล่าวเสียได้ ทั้งนี้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 238 ประกอบ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113
(ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19883/2555 และ 14860/2558)
# ผู้ได้ลาภงอก หมายถึง บุคคลที่ทำนิติกรรมกับลูกหนี้โดยตรง และได้รับประโยชน์จากนิติกรรมนั้น
# Happy Halloween Day ครับ
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 มีหลักว่า “การขอให้ศาลเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ.นั้น ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอได้โดยทำเป็นคำร้อง ทั้งนี้ การขอให้เพิกถอนดังกล่าว ห้ามมิให้ขอเมื่อพ้น 1 ปีนับแต่เวลาที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน หรือพ้น 10 ปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมนั้น” และมาตรา 114 มีหลักว่า “ถ้านิติกรรมที่ขอเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา 113 นั้น เกิดขึ้นภายในระยะเวลา 1 ปีก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้น หรือเป็นการทำให้โดยเสน่หา หรือเป็นการที่ลูกหนี้ได้รับค่าตอบแทนน้อยเกินสมควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นการกระทำที่ลูกหนี้และผู้ที่ได้ลาภงอกแต่การนั้นรู้อยู่ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ” การเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ.มาตรา 237 เป็นเรื่องที่กฎหมายให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมอันลูกหนี้ได้กระทำกับผู้ได้ลาภงอก แต่เมื่อลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์แล้วตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำเป็นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลในคดีล้มละลายได้โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่ อย่างไรก็ดี การยื่นคำร้องดังกล่าวจะต้องการกระทำภายในอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่เจ้าหนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ.มาตรา 240 ประการสำคัญในขณะทำนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉลนั้นจะต้องมีผู้เป็นเจ้าหนี้ที่ได้รับผลกระทบซึ่งต้องเสียเปรียบจากการกระทำของลูกหนี้อยู่ก่อนแล้ว บันทึกท้ายทะเบียนการหย่าในเรื่องแบ่งทรัพย์สินโดยการยกทรัพย์สินของสามีให้แก่ภริยาโดยไม่มีค่าตอบแทนนั้นเป็นการกระทำที่สามีและภริยาผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นรู้อยู่ว่าเป็นทางที่ทำให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 114 และเมื่อเป็นการทำให้โดยเสน่หา สามีเป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวก็เพียงพอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 237 ว.1 ประกอบ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 นิติกรรมที่ภริยาจดทะเบียนรับโอนที่ดินอันเป็นการกระทำที่สืบเนื่องจากบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าในเรื่องแบ่งทรัพย์สินจึงต้องถูกเพิกถอน แม้ว่าทรัพย์สินนั้นอาจเป็นสินสมรสที่ภริยามีส่วนเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กรณีต้องไปว่ากล่าวกันเมื่อมีการขายทรัพย์สินในชั้นบังคับคดีตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 19 ว.3 และมาตรา 123 นอกจากนี้ แม้พี่ชายจะเป็นบุคคลภายนอกซึ่งรับจำนองที่ดินจากภริยาโดยเสียค่าตอบแทนก็ตาม แต่ในขณะที่รับจำนองนั้นพี่ชายอาศัยอยู่ด้วยกัน กรณีมีเหตุผลเชื่อได้ว่าพี่ชายทราบถึงภาวะการมีหนี้สินล้นพ้นตัวของสามี จึงต้องถือว่ารับจำนองไว้โดยไม่สุจริต พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินเพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับคดี เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงชอบที่จะขอให้เพิกถอนการจำนองที่ดินดังกล่าวเสียได้ ทั้งนี้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 238 ประกอบ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113
(ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19883/2555 และ 14860/2558)
# ผู้ได้ลาภงอก หมายถึง บุคคลที่ทำนิติกรรมกับลูกหนี้โดยตรง และได้รับประโยชน์จากนิติกรรมนั้น
# Happy Halloween Day ครับ
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ