ความผิดกระทำลงในหลายท้องที่

344 Views
รถไฟฟ้า BTS สายสุขุมวิท เป็นรถไฟฟ้ายกระดับเส้นทางแรกที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2542 โดยมีเส้นทางจากสถานีหมอชิตถึงสถานีอ่อนนุช รวมระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร ปัจจุบันรถไฟฟ้าเส้นทางนี้มีการต่อขยายจากจังหวัดสมุทรปราการไปถึงจังหวัดปทุมธานี โดยมีจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการประมาณ 800,000 คนต่อวัน วันเกิดเหตุ นายซัมกับนางซุงขึ้นรถไฟฟ้า BTS สายสุขุมวิทจากสถานีบางปูเพื่อไปยังสถานีวงแหวน-ลำลูกกา ต่อมา นายซัมได้แอบลักโทรศัพท์ IPhone 15 Promax จากกระเป๋าสะพายของนางซุงขณะที่รถจอดแวะรับผู้โดยสารที่สถานีอุดมสุข ซึ่งอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของสถานีตำรวจนครบาลบางนา จากนั้นจึงได้แอบลัก AirPods Pro 2 จากกระเป๋าสะพายของนางซุงเช่นเดิมขณะที่รถจอดแวะรับผู้โดยสารที่สถานีทองหล่อ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ หากนายซัมถูกตำรวจสายตรวจซึ่งเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวโดยตลอดจากกล้องวงจรปิดบนรถไฟฟ้าจับกุมที่สถานีรัชโยธิน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน ขณะที่กำลังลัก Apple MagSafe Battery Pack จากกระเป๋ากางเกงของนางซุง และนำตัวส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธินโดยทันที แต่นางซุงต้องรีบไปธุระจึงไม่ได้เดินทางไปสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธินด้วย เมื่อจัดการธุระเสร็จนางซุงจึงได้เดินทางกลับโดยรถแท็กซี่ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางนาในช่วงเย็นของวันเดียวกัน พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางนาจึงได้ทำการสอบสวนและทำความเห็นว่าควรสั่งฟ้องส่งไปพร้อมกับสำนวนเพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณา มีคำถามว่า พนักงานอัยการจะมีอำนาจฟ้องนายซัมหรือไม่ แอดมินมีคำตอบครับ
 
ตามปัญหา กรณีดังกล่าวเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ซึ่งเป็นความผิดต่อเนื่อง และมีหลายกรรมซึ่งกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป และเป็นความผิดที่เกิดขึ้นขณะผู้ต้องหาและผู้เสียหายกำลังเดินทาง ซึ่งพนักงานสอบสวนในท้องที่ต่าง ๆ ที่รถไฟฟ้า BTS ผ่านมีอำนาจสอบสวนได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 19 ว.1 (3) (4) (5) (6) และ ว.2 ฉะนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางนา ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องจึงมีอำนาจสอบสวนคดีนี้เช่นกัน แต่ปรากฏว่านายซัมถูกตำรวจสายตรวจซึ่งเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวโดยตลอดจากกล้องวงจรปิดบนรถไฟฟ้าจับกุมที่สถานีรัชโยธิน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวนกรณีจับผู้ต้องหาได้แล้วเช่นนี้จึงเป็นที่แน่ชัดว่าคือพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน ซึ่งเป็นท้องที่ที่จับได้อยู่ในเขตอำนาจตามมาตรา 19 ว.3 (ก) การที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางนาได้ทำการสอบสวนคดีนี้หลังจากจับนายซัมได้แล้ว จึงมิได้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ทั้งมิใช่กรณีที่จับผู้ต้องหายังไม่ได้อันจะถือว่าพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่พบการกระทำผิดก่อนอยู่ในเขตอำนาจเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามมาตรา 19 ว.3 (ข) ได้ เมื่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางนามิใช่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบซึ่งมีอำนาจสรุปสำนวนและทำความเห็นว่าควรสั่งฟ้องส่งไปพร้อมกับสำนวนเพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 140 และ 141 แม้จะดำเนินการสอบสวนต่อไปจนเสร็จก็ถือไม่ได้ว่าได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อนโดยชอบตามมาตรา 120 พนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้อง
 
(ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1974/2539)
 
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ