ผู้ให้บริการสินเชื่อจะต้องรับผิดต่อลูกค้า จากการที่ลูกจ้างของบริษัทผู้รับจ้างทวงถามหนี้ โทรศัพท์ทวงหนี้ลูกค้าและแจ้งความเป็นหนี้ดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่นทราบด้วยหรือไม่

342 Views
จากผลการสำรวจในปัจจุบัน คนไทยส่วนใหญ่มีหนี้สินเพิ่มขึ้น โดยหนี้ 3 อันดับแรกได้แก่ หนี้บัตรเครดิต หนี้สินเชื่อผ่อนรถยนต์ และหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ แต่ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง ผู้ให้บริการสินเชื่อจึงต้องมีการติดตามทวงถามหนี้เพื่อการได้รับทรัพย์สินดังกล่าวกลับคืน อย่างไรก็ดี บางครั้งในการปฏิบัติงาน ผู้ปฏิบัติอาจจะมิได้ปฏิบัติตามระเบียบหรือคู่มือปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด จึงมีคำถามว่า ผู้ให้บริการสินเชื่อจะต้องรับผิดต่อลูกค้า จากการที่ลูกจ้างของบริษัทผู้รับจ้างทวงถามหนี้ โทรศัพท์ทวงหนี้ลูกค้าและแจ้งความเป็นหนี้ดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่นทราบด้วยหรือไม่ แอดมินมีคำตอบครับ
 
ป.พ.พ. มาตรา 420 มีหลักว่า “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น ” ส่วนมาตรา 425 มีหลักว่า “นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น” และมาตรา 427 มีหลักว่า “บทบัญญัติในมาตราทั้งสองก่อนนั้น ท่านให้ใช้บังคับแก่ตัวการและตัวแทนด้วยโดยอนุโลม” การที่ลูกจ้างของบริษัทผู้รับจ้างทวงถามหนี้ ซึ่งได้รับการว่าจ้างจากผู้ให้บริการสินเชื่อในการติดตามทวงถามหนี้กับลูกค้าที่ผิดนัดชำระหนี้ ได้โทรศัพท์ทวงหนี้ลูกค้าและแจ้งความเป็นหนี้ดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่นทราบอันไม่เป็นไปตามแนวปฏิบัติในการติดตามทวงถามหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย และเป็นการละเมิดต่อลูกค้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 การที่บริษัทผู้รับจ้างทวงถามหนี้มอบหมายให้ลูกจ้างมีหน้าที่ติดตามทวงถามหนี้จากลูกค้าอันเป็นกิจการที่บริษัทผู้รับจ้างทวงถามหนี้ (นายจ้าง) มอบให้ลูกจ้างไปกระทำในทางการที่จ้าง เมื่อลูกจ้างทวงหนี้ลูกค้าโดยจงใจทำให้ลูกค้าได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียง บริษัทผู้รับจ้างทวงถามหนี้จึงต้องร่วมรับผิดต่อลูกค้าในผลแห่งละเมิดที่ลูกจ้างกระทำไปในทางการที่จ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 ส่วนผู้ให้บริการสินเชื่อนั้น แม้สัญญาบริการดังกล่าวจะมีข้อตกลงในลักษณะผู้ให้บริการสินเชื่อมอบหมายให้บริษัทผู้รับจ้างทวงถามหนี้ไปติดตามทวงถามหนี้จากลูกค้า โดยบริษัทผู้รับจ้างทวงถามหนี้ได้รับค่าจ้างจากผู้ให้บริการสินเชื่อเป็นการตอบแทน บริษัทผู้รับจ้างทวงถามหนี้กับผู้ให้บริการสินเชื่อจึงมีนิติสัมพันธ์กันในลักษณะบริษัทผู้รับจ้างทวงถามหนี้เป็นตัวแทนของผู้ให้บริการสินเชื่อโดยปริยาย โดยมีบำเหน็จในส่วนที่เกี่ยวกับการติดตามทวงถามหนี้จากลูกค้าของผู้ให้บริการสินเชื่ออยู่ด้วย เมื่อบริษัทผู้รับจ้างทวงถามหนี้มอบหมายให้ลูกจ้างไปติดตามทวงถามหนี้จากลูกค้า ย่อมถือได้ว่าลูกจ้างดังกล่าวเป็นตัวแทนของผู้ให้บริการสินเชื่อโดยปริยายในส่วนที่เกี่ยวกับการติดตามทวงถามหนี้จากลูกค้าของผู้ให้บริการสินเชื่อเช่นกัน จึงต้องร่วมรับผิดในการทำละเมิดของลูกจ้างของบริษัทผู้รับจ้างทวงถามหนี้ต่อลูกค้าด้วยตามมาตรา 427 ประกอบ มาตรา 425
 
(เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6543/2561)

บทความอื่นๆ