การครอบครองปรปักษ์นั้นเป็นปรปักษ์ต่อใคร

320 Views
เมื่อหลายสิบปีก่อน มีเรื่องราวเกี่ยวกับที่ดินแปลงหนึ่งย่านธุรกิจใจกลางของกรุงเทพมหานครที่มีคดีพิพาทระหว่างเจ้าของที่ดินและผู้ที่เข้ามาอยู่อาศัยในที่ดินแปลงดังกล่าวเกี่ยวกับเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยในเวลานั้นคือเรื่องการครอบครองปรปักษ์ การครอบครองปรปักษ์จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่งเรื่องหนึ่งที่พวกเราควรจะทราบไว้บ้าง เพราะหลักกฎหมายนี้อาจทำให้เจ้าของกรรมสิทธิ์ต้องเสียสิทธิในทรัพย์สินของตนเอง การครอบครองปรปักษ์นั้นมีความหมายอย่างไร และเป็นปรปักษ์ต่อใคร แอดมินมีคำตอบครับ
 
เรื่องการครอบครองปรปักษ์นั้น เป็นนโยบายของรัฐที่ต้องการส่งเสริมให้ประชาชนใช้ทรัพย์สินให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด ไม่ปล่อยให้รกร้างว่างเปล่า ทอดทิ้งหรือไม่ดูแล มิเช่นนั้น เจ้าของก็อาจจะต้องเสียสิทธิในทรัพย์สินนั้นให้กับบุคคลอื่นที่เห็นคุณค่าในทรัพย์สินดังกล่าวไป หลักเกณฑ์ของการครอบครองปรปักษ์ระบุอยู่ใน ป.พ.พ. มาตรา 1382 ซึ่งมีหลักว่า “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี บุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์” # จากหลักกฎหมายดังกล่าว อาจพอสรุปได้ว่า การครอบครองปรปักษ์นั้นจะต้องมีการเข้ายึดถือเอาทรัพย์สินของบุคคลอื่นนั้นเป็นของตนเอง นอกจากนี้ การครอบครองทรัพย์สินดังกล่าวจะต้องไม่มีใครมารบกวนหรือขัดขวางในระหว่างการครอบครองด้วย และจะต้องครอบครองทรัพย์สินด้วยเจตนาเพื่อตนเองเท่านั้น กล่าวคือ จะต้องใช้สอยทรัพย์สิน หรือขัดขวางบุคคลอื่นที่มาเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นอย่างเดียวกันกับเจ้าของกรรมสิทธิ์ ทั้งนี้ หากมีระยะเวลาติดต่อกัน 10 ปี สำหรับอสังหาริมทรัพย์ (ทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายไม่ได้) เช่น บ้าน และที่ดิน เป็นต้น (กรณีที่ดินต้องเป็นที่ดินที่มีโฉนด โฉนดตราจอง หรือเอกสารกรรมสิทธิ์ประเภทอื่นๆ เท่านั้น ไม่นับรวมที่ดินมือเปล่าที่มีเพียงสิทธิครอบครอง เช่น ส.ค.1 หรือ น.ส.3 หรือที่ดินมือเปล่าประเภทอื่น และระยะเวลาติดต่อกัน 5 ปี สำหรับสังหาริมทรัพย์ (ทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายได้) เช่น รถยนต์ กระเป๋า เสื้อผ้า ปากกา โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น ผู้ครอบครองนั้นก็จะได้ทรัพย์สินดังกล่าวไป อย่างไรก็ดี หากมีการโอนกรรมสิทธิ์ในระหว่างที่การครอบครองปรปักษ์ยังไม่ครบ 10 ปี และ 5 ปี ตามประเภทของทรัพย์สิน และผู้รับโอนได้กรรมสิทธิ์มาโดยสุจริต และเสียค่าตอบแทน ย่อมมีผลทำให้การครอบครองปรปักษ์ก่อนหน้านี้สิ้นผลไป และต้องเริ่มนับระยะเวลาการครอบครองใหม่ตั้งแต่ต้น
 
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายของคำว่า “ปรปักษ์” ไว้ว่า หมายถึง ข้าศึก, ศัตรู หรือฝ่ายตรงข้าม ในความหมายดังกล่าวทำให้ปรปักษ์มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า “ปฏิปักษ์” ส่วนการคอบครองนั้น หมายความว่า ยึดถือไว้ หรือมีสิทธิปกครอง ดังนั้น คำว่า "การครอบครองปรปักษ์" จึงหมายถึง การที่มีคนอื่น (ข้าศึก, ศัตรู หรือฝ่ายตรงข้าม) เข้ามาแย่งการครอบครองสิทธิในทรัพย์สินของเจ้าของที่มีกรรมสิทธิ์

บทความอื่นๆ