การที่ลูกจ้างตกลงยอมรับเงื่อนไขในสัญญาจ้างซึ่งระบุว่าภายในระยะเวลา 2 ปีนับแต่วันเริ่มสัญญา หากลูกจ้างตั้งครรภ์ให้ถือว่าลูกจ้างได้บอกเลิกสัญญานี้แล้ว ต่อมาลูกจ้างตั้งครรภ์และอยู่ระหว่างการลาเพื่อคลอดบุตร นายจ้างจะมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานโดยอ้างว่าลูกจ้างทำงานบกพร่องและขาดประสิทธิภาพในการทำงานได้หรือไม่

457 Views
ข้อตกลงในสัญญาจ้างแรงงานถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง เพราะในสัญญาจะระบุรายละเอียดเกี่ยวกับตำแหน่งงาน ค่าจ้าง สวัสดิการ ตารางการทำงาน วันเริ่มงาน สิทธิ หน้าที่ ค่าชดเชยและผลประโยชน์ต่างๆ จึงมีคำถามว่า การที่ลูกจ้างตกลงยอมรับเงื่อนไขในสัญญาจ้างซึ่งระบุว่าภายในระยะเวลา 2 ปีนับแต่วันเริ่มสัญญา หากลูกจ้างตั้งครรภ์ให้ถือว่าลูกจ้างได้บอกเลิกสัญญานี้แล้ว ต่อมาลูกจ้างตั้งครรภ์และอยู่ระหว่างการลาเพื่อคลอดบุตร นายจ้างจะมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานโดยอ้างว่าลูกจ้างทำงานบกพร่องและขาดประสิทธิภาพในการทำงานได้หรือไม่
 
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 43 มีหลักว่า “ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงเพราะเหตุมีครรภ์” จากคำถามดังกล่าวข้างต้น ข้อตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างซึ่งระบุว่า ภายในระยะเวลา 2 ปีนับแต่วันเริ่มสัญญา หากลูกจ้างตั้งครรภ์ให้ถือว่าลูกจ้างได้บอกเลิกสัญญานี้แล้ว ถือเป็นข้อตกลงที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีผลเป็นการเลิกจ้างเพราะเหตุมีครรภ์ จึงขัดต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 อย่างไรก็ดี ไม่มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานใดห้ามไม่ให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างนั้นในระหว่างการลาเพื่อคลอดบุตร เมื่อนายจ้างมิได้เลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุมีครรภ์ กรณีจึงไม่ต้องด้วยข้อห้ามตามมาตรา 43
 
(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1394/2549 และ 1959/2548)

บทความอื่นๆ