ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี การที่จำเลยให้การรับสารภาพแล้วแถลงว่าได้กระทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ถือเป็นคำรับสารภาพหรือไม่ และศาลจะพิพากษาลงโทษโดยไม่ต้องสืบพยานได้หรือไม่

8457 Views
การที่จำเลยรับสารภาพต่อศาลในคดีอาญาก่อนสืบพยานนั้นถือเป็นเหตุบรรเทาโทษอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าศาลเห็นสมควร สามารถนำมาเป็นเหตุลดโทษให้แก่จำเลยได้ จึงมีคำถามว่า ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี การที่จำเลยให้การรับสารภาพแล้วแถลงว่าได้กระทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ถือเป็นคำรับสารภาพหรือไม่ และศาลจะพิพากษาลงโทษโดยไม่ต้องสืบพยานได้หรือไม่
 
ป.วิ.อ.ม.176 ว.1 มีหลักว่า “ในชั้นพิจารณา ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ เว้นแต่คดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจำเลยรับสารภาพนั้นกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป หรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง” จากคำถามดังกล่าวข้างต้น ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี การที่จำเลยรับสารภาพแล้วแถลงว่ากระทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์นั้น คำแถลงของจำเลยเช่นนี้ ถือเป็นคำแถลงเพื่อขอบรรเทาโทษหรือขอให้ลงโทษโดยสถานเบา มิใช่คำให้การว่าจำเลยมิได้มีเจตนากระทำผิด ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลยได้โดยไม่ต้องสืบพยาน
 
(เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2274/2525)