การไต่สวนชันสูตรพลิกศพจะกระทำที่ศาลแขวงได้หรือไม่

423 Views
ป.วิ.อ.ได้กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการ ขั้นตอน และกรณีที่ต้องมีการชันสูตรพลิกศพและการไต่สวนการตายไว้ในมาตรา 148-156 เมื่อศาลชั้นต้นที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญามีทั้งศาลจังหวัดและศาลแขวง จึงมีคำถามว่า การไต่สวนชันสูตรพลิกศพจะกระทำที่ศาลแขวงได้หรือไม่
 
พระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 17 ได้กำหนดให้ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอำนาจทำการไต่สวน หรือมีคำสั่งใดๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 ว.1 (กล่าวคือ มาตรา 24 (1) ออกหมายเรียก หมายอาญา หรือหมายสั่งให้ส่งคนมาจากหรือไปยังจังหวัดอื่น และ (2) ออกคำสั่งใดๆ ซึ่งมิใช่เป็นไปในทางวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดี และมาตรา 25 ว.1 (1) ไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องหรือคำขอที่ยื่นต่อศาลในคดีทั้งปวง (2) ไต่สวนและมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการเพื่อความปลอดภัย (3) ไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งในคดีอาญา (4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกิน 300,000 บาท ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา (5) พิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่จะลงโทษจำคุกเกิน 6 เดือน หรือปรับเกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งโทษจำคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้) ซึ่งตามมาตราดังกล่าว มิได้บัญญัติให้ผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจเกี่ยวกับการชันสูตรพลิกศพแต่อย่างใด เมื่อการไต่สวนการตายถือเป็นคดีตั้งต้นและไม่ใช่คดีสาขาของคดีอื่น จึงต้องพิจารณาตามมาตรา 18 ซึ่งกำหนดให้ศาลจังหวัดมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและคดีอาญาทั้งปวงที่มิได้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมอื่น ดังนั้น การไต่สวนชันสูตรพลิกศพจึงเป็นอำนาจของศาลจังหวัด
 
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ

บทความอื่นๆ