การกู้ยืมเงินกับการชำระหนี้ตามอำเภอใจ

348 Views
สำเนาใบหุ้นกู้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินได้หรือไม่ และในกรณีที่ผู้กู้เป็นผู้กำหนดให้ผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปีแก่ผู้ให้กู้เอง จะขอให้นำเงินที่ชำระไปแล้วดังกล่าวมาหักกลบกับต้นเงินที่ต้องชำระแก่ผู้ให้กู้ได้หรือไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้มีคำตอบครับ
 
# คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 745/2565
“โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานอ้างสำเนาใบหุ้นกู้เป็นพยานหลักฐานและขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเรียกต้นฉบับใบหุ้นกู้จากจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองเอกสาร ทั้งในชั้นพิจารณาโจทก์เบิกความยืนยันว่า โจทก์ได้รับเพียงสำเนาใบหุ้นกู้จากจำเลยที่ 1 พฤติการณ์น่าเชื่อว่า ต้นฉบับใบหุ้นกู้อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 อันเป็นข้อยกเว้นที่โจทก์ไม่ต้องส่งสำเนาให้จำเลยที่ 1 ก่อนวันสืบพยานตาม ป.วิ.พ.มาตรา 90 ว.3(2) การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 รับฟังสำเนาใบหุ้นกู้เป็นพยานหลักฐานชอบแล้ว การออกหุ้นกู้ต้องอยู่ในบังคับ ป.พ.พ.มาตรา 1229 และ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 33 มาตรา 34 และมาตรา 65 กล่าวคือ ต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ การฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวเป็นความผิดและต้องได้รับโทษตาม มาตรา 268 การที่จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเป็นเหตุให้การออกหุ้นกู้ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่อาจใช้บังคับในฐานะหุ้นกู้ตามกฎหมายได้ก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 ได้รับเงินไปจากโจทก์ และมีกำหนดเวลาการชำระคืน ถือได้ว่าสำเนาใบหุ้นกู้มีข้อความครบถ้วนเพียงพอให้รับฟังได้ว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินที่เป็นหนังสือตาม ป.พ.พ.มาตรา 653 ว.1 ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องปิดอากรแสตมป์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 ศาลย่อมมีอำนาจรับฟังสำเนาใบหุ้นกู้เป็นพยานหลักฐานได้ ไม่เป็นการสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงพยานเอกสาร เมื่อฟังได้ว่าสำเนาใบหุ้นกู้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินซึ่งจำเลยที่ 1 ตกลงให้ผลตอบแทนร้อยละ 2 ต่อเดือน เป็นการให้ดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 654 ตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เพียงร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันครบกำหนดชำระหนี้เป็นต้นไป ส่วนผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยที่ได้ชำระแก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 เป็นผู้กำหนดขึ้นเอง จึงเป็นการชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระตาม ป.พ.พ.มาตรา 407 จำเลยที่ 1 ไม่อาจขอให้นำเงินที่ชำระไปดังกล่าวมาหักกลบกับต้นเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์”
 
# ไม่ขัดกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5376/2560 (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/2560) ซึ่งมีหลักว่า “การที่จำเลยยอมชำระดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้แก่โจทก์ ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตาม ป.พ.พ.มาตรา 411 จำเลยหาอาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระได้ไม่ แต่โจทก์ในฐานะผู้ให้กู้เป็นฝ่ายเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้จากจำเลย เมื่อข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะแล้ว และจำเลยไม่อาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายได้ โจทก์ก็ย่อมไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยดังกล่าวด้วย จึงต้องนำดอกเบี้ยที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์ไปหักเงินต้นตามหนังสือสัญญากู้เงิน”
 
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ

บทความอื่นๆ