ความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวนตาม ป.อ.มาตรา 172

357 Views
ปัญหาตุ๊กตา
นายแดง กับพวกอีก 2 คน รับทราบเหตุการณ์ที่นายเขียวใช้อาวุธปืนยิงนายส้มจำนวน 1 นัดบริเวณหน้าอกจนถึงแก่ความตายในงานเลี้ยงฉลองวันเกิดที่บ้านของนายฟ้า ต่อมาในวันที่ 11 กันยายน 2566 พนักงานสอบสวนได้เชิญตัวนายฟ้า นายแดง กับผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ไปให้ถ้อยคำในฐานะพยาน แต่บุคคลทั้งหมดให้การว่า “ไม่รู้ไม่เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะขณะนั้นได้ลุกขึ้นไปสูบบุหรี่และเข้าห้องน้ำพอดี แต่คาดว่านายส้มซึ่งเป็นผู้ที่พกอาวุธปืนเข้ามาในงานเลี้ยงเพียงคนเดียวน่าจะทำปืนลั่นใส่ตนเองจนถึงแก่ความตายเพราะเห็นนายส้มหยิบปืนขึ้นมาวางบนโต๊ะ” ต่อมาจากการสืบสวน ตำรวจทราบว่านายเขียวเป็นผู้กระทำความผิดจึงนำกำลังเข้าจับกุม แต่นายเขียวไม่ยอมให้จับและใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้เพื่อเปิดทางหนีจึงถูกตำรวจวิสามัญฆาตกรรม จากการค้นตัวนายเขียว ตำรวจพบโทรศัพท์มือถือซึ่งมีบทสนทนาในไลน์กลุ่มระหว่าง นายเขียว นายฟ้า และนายแดง กับพวกอีก 2 คนในช่วงเวลาก่อนเกิดเหตุว่าทั้งหมดจะแกล้งทำทีออกไปสูบบุหรี่และเข้าห้องน้ำ ระหว่างนั้น ให้นายเขียวย้อนกลับมาใช้อาวุธปืนยิงนายส้มที่นั่งอยู่ที่โต๊ะเพียงคนเดียวแล้วนำอาวุธปืนที่นายส้มพกมาทิ้งไว้ข้างลำตัวเพื่ออำพรางคดี พนักงานสอบสวนจึงออกหมายเรียก นายฟ้า นายแดง กับพวกอีก 2 คน เพื่อให้มารับทราบข้อกล่าวหาในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตาม ป.อ.มาตรา 289(4) ในวันที่ 18 กันยายน 2566 เมื่อบุคคลทั้งหมดพร้อมกับทนายความมาถึงสถานีตำรวจและได้รับทราบข้อกล่าวหาแล้ว ทั้งหมดยังคงให้การกับพนักงานสอบสวนเช่นเดิม จึงมีคำถามว่า นายฟ้า นายแดง กับพวกอีก 2 คน จะมีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวนตาม ป.อ.มาตรา 172 หรือไม่
 
แม้ในวันที่ 18 กันยายน 2566 นายฟ้า นายแดง กับพวกอีก 2 คน จะให้การเท็จจริงอย่างไรก็ได้เพราะถือเป็นสิทธิของผู้ต้องหา แต่ในวันที่ 11 กันยายน 2566 การที่นายฟ้า นายแดง กับพวกอีก 2 คนให้การเป็นพยานต่อพนักงานสอบสวนยืนยันว่าไม่รู้ไม่เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะขณะนั้นได้ลุกขึ้นไปสูบบุหรี่และเข้าห้องน้ำพอดี แต่คาดว่านายส้มซึ่งเป็นผู้ที่พกอาวุธปืนเข้ามาในงานเลี้ยงเพียงคนเดียวน่าจะทำปืนลั่นใส่ตนเองจนถึงแก่ความตายเพราะเห็นนายส้มหยิบปืนขึ้นมาวางบนโต๊ะซึ่งไม่เป็นความจริง เป็นการให้การในฐานะพยาน จึงมีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวนตาม ป.อ.มาตรา 172
 
(ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 144/2536, 5346/2540 และ 1706/2546)
 
# ผู้ต้องหาที่ถูกกันเป็นพยานมีฐานะเป็นผู้ต้องหา แม้จะให้การอันเป็นเท็จก็ไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ
 
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ

บทความอื่นๆ