ถ้าโจรลักทรัพย์โจร จะมีความผิดฐานลักทรัพย์ หรือรับของโจรหรือไม่

457 Views
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้ให้ความหมายของคำว่า “ขโมย” ไว้ว่า หมายถึง ผู้ลักทรัพย์ ส่วนอีกความหมายหนึ่งเป็นคำกริยาหมายถึง ลัก หรือโดยปริยายหมายความว่า ลอบทำสิ่งที่ตนไม่มีสิทธิ์หรือไม่ได้รับอนุญาต ส่วนคำว่า “โจร” นั้น มีความหมายว่า ผู้ร้ายที่ลักขโมย หรือปล้นสะดมทรัพย์สินผู้อื่น เป็นต้น แล้วหากโจรปล้นโจรหละ เราจะเรียกว่าอะไร พจนานุกรมฉบับแปลไทย-อังกฤษของ อ.สอ เสถบุตร ได้ให้ความหมายของคำนี้เป็นภาษาอังกฤษว่า “to steal from a thief” ซึ่งมาจากคำศัพท์ภาษาไทยที่อ่านว่า “ขมาย (ขะ-มาย)” แปลว่า "ขโมย" เช่นกัน เมื่อถึงนึกถึงวีรบุรุษที่ปล้นคนรวยเพื่อช่วยคนจนในวรรณกรรมอันโด่งดังของต่างประเทศ พวกเราย่อมต้องนึกถึงโรบินฮู้ดอย่างแน่นอน ในทางกฎหมาย การปล้น คือการชิงทรัพย์โดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ซึ่งมีพื้นฐานมาจากความผิดฐานลักทรัพย์ จึงมีคำถามว่า ถ้าโจรลักทรัพย์โจร จะมีความผิดฐานลักทรัพย์ หรือรับของโจรหรือไม่ แอดมินมีคำตอบครับ
 
ความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ปอ. มาตรา 334 มีหลักว่า “ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 60,000 บาท” ส่วนความผิดฐานรับของโจรตาม ป.อ. มาตรา 357 นั้น มีหลักว่า “ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด ถ้าความผิดนั้นเข้าลักษณะลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรับของโจร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าการกระทำความผิดฐานรับของโจรนั้น ได้กระทำเพื่อค้ากำไร หรือได้กระทำต่อทรัพย์อันได้มาโดยการลักทรัพย์ตามมาตรา 335 (10) ชิงทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 บาทถึง 200,000 บาท ถ้าการกระทำความผิดฐานรับของโจรนั้น ได้กระทำต่อทรัพย์อันได้มาโดยการลักทรัพย์ตามมาตรา 335 ทวิ การชิงทรัพย์ตามมาตรา 339 ทวิ หรือการปล้นทรัพย์ตามมาตรา 340 ทวิ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปีถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 บาทถึง 300,000 บาท” ความผิดฐานลักทรัพย์นั้น คือ การแย่งการครอบครองในลักษณะตัดรอนกรรมสิทธิ์ออกจากเจ้าของทรัพย์เดิม โดยการเข้าครอบครองทรัพย์นั้น และพาเคลื่อนที่ออกไปจากที่ที่ทรัพย์เดิมนั้นเคยอยู่ โดยมีลักษณะเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา กล่าวคือ เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ในทางอาญา และในขณะเดียวกันก็เป็นการละเมิดในทางแพ่งด้วย ผู้ที่ลักทรัพย์ไปนั้นจึงมีหน้าที่ต้องคืน หรือต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน คือราคาทรัพย์สินและค่าเสียหาย ผู้ที่ลักทรัพย์ไปจึงมีสิทธิครอบครองดูแลทรัพย์สินที่ลักไปไว้เพื่อการคืนแก่เจ้าของทรัพย์ ดังนั้น การที่มีผู้อื่นมาเอาทรัพย์ไปจากผู้ที่ลักทรัพย์คนแรกโดยทุจริต แม้ผู้ที่ลักทรัพย์คนแรกนั้นจะลักทรัพย์มาจากเจ้าของทรัพย์อีกต่อหนึ่ง ก็ถือว่าผู้ที่ลักทรัพย์คนที่สองเป็นผู้แย่งการครอบครองไปจากผู้ที่ลักทรัพย์คนแรก การกระทำดังกล่าวของผู้ที่ลักทรัพย์คนที่สองจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ไม่ใช่ความผิดฐานรับของโจร แต่อย่างใด 

บทความอื่นๆ