เครื่องจับเท็จสามารถใช้เป็นหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้หรือไม่

348 Views
ในทางจิตวิทยาเชื่อว่า การโกหกถือเป็นนิสัยหนึ่งของมนุษย์ที่ติดตัวมาแต่กำเนิด เพราะมนุษย์นั้นมีความสามารถในการปรับตัวและมีสัณชาตญาณการเอาตัวรอดเป็นพื้นฐาน ดังนั้นในทางคดี บางครั้งนอกจากพยานหลักฐานในสำนวนแล้ว การที่จะประเมินว่าจำเลยพูดจริงหรือพูดเท็จจึงต้องมีเครื่องมือมาช่วยในการวิเคราะห์คำพูดดังกล่าว จึงมีคำถามว่า เครื่องจับเท็จสามารถใช้เป็นหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้หรือไม่
 
เครื่องจับเท็จ หรือเครื่องโพลีกราฟ (Polygraph) เป็นอุปกรณ์ที่ถูกพัฒนามาจากอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งมีไว้สำหรับบันทึกชีพจรของผู้ป่วย เพื่อช่วยในการวินิจฉัยความผิดปกติของหัวใจ การตรวจวัดชีพจร ความดันโลหิต อุณหภูมิ และอัตราการหายใจ หลักการทำงานของเครื่องจับเท็จนั้น คือการผสานศาสตร์แห่งสรีรวิทยาและจิตวิทยา โดยการตรวจสอบทางกายภาพ ได้แก่ อัตราการหายใจ ชีพจร ความดันโลหิต การเปลี่ยนแปลงทางผิวหนัง เหงื่อ และการตรวจจับม่านตาของผู้เข้ารับการทดสอบ โดยความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้จะสัมพันธ์กัน และปรากฏให้เห็นในลักษณะของเส้นกราฟจากเครื่องจับเท็จที่เปลี่ยนแปลงไม่เท่ากันตลอดการสอบสวน อย่างไรก็ดี เครื่องจับเท็จเป็นเพียงเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่นำผลการตอบคำถามของจำเลยมาวิเคราะห์ตามหลักวิชาการแล้วประเมินผลจากการวิเคราะห์นั้นว่าจำเลยพูดจริงหรือพูดเท็จ อันมีลักษณะเป็นเพียงความเห็นทางวิชาการย่อมไม่อาจนำมาพิสูจน์ทราบถึงข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับการกระทำผิดให้เป็นที่แน่ชัดได้ ต่างกับการพิสูจน์ตัวบุคคลที่อาจพิสูจน์ทราบได้โดยอาศัยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้น หากไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาประกอบให้เห็นว่าจำเลยกระทำความผิดประการใด ลำพังเครื่องจับเท็จและความเห็นของผู้ชำนาญด้านเครื่องจับเท็จยังไม่อาจรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด และยังมิใช่เป็นพยานหลักฐานที่ศาลยุติธรรมจะรับฟังเป็นยุติได้ ศาลจึงต้องใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง และไม่พิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น และเมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลย ทั้งนี้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227
 
(เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 734/2553 และ 665/2502)

บทความอื่นๆ