กรณีที่พนักงานอัยการฟ้องว่าจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ของผู้เสียหายมีเจตนาทุจริตหลอกลวงเอาหนังสือสัญญากู้ยืมเงินของผู้เสียหายไป ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษว่าจำเลยมีความผิดฐานฉ้อโกง พนักงานอัยการจะขอให้จำเลยคืนหนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่จำเลยหลอกลวงไป หากจำเลยส่งสัญญาไม่ได้ขอให้จำเลยใช้เงินอันเป็นหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวแทนได้หรือไม่

338 Views
ป.วิ.อ.มาตรา 43 มีหลักว่า “คดีลักทรัพย์ วิ่งราว ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ โจรสลัด กรรโชก ฉ้อโกง ยักยอก หรือรับของโจรนั้น ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาที่เขาสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดคืน เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญา ก็ให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายด้วย” ตามปัญหา เมื่อกรณีเป็นการฉ้อโกงเอาหนังสือสัญญากู้ยืมเงินไป ทรัพย์สินที่ผู้เสียหายสูญเสียไปก็คือหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน พนักงานอัยการคงเรียกคืนได้แต่ตัวหนังสือสัญญาเท่านั้น แต่จะขอมาด้วยว่า หากจำเลยส่งสัญญาไม่ได้จะขอให้จำเลยใช้เงินอันเป็นหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวแทนนั้นหาได้ไม่ เพราะไม่อาจกล่าวได้ว่าผู้เสียหายได้สูญเสียทรัพย์สินที่มีราคาตามหนี้ในสัญญากู้ยืมเงิน แม้หนังสือสัญญากู้ยืมเงินจะสูญหายไปก็ยังฟ้องร้องเรียกหนี้กันได้มิใช่ว่าหนี้นั้นจะพลอยสูญไปด้วย หนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวมีอย่างไร ผู้เสียหายก็ชอบที่จะฟ้องร้องเป็นคดีแพ่งอีกต่างหาก กรณีจึงไม่มีทางบังคับให้ตามที่โจทก์ขอ
 
(เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 40/2508)
 
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ

บทความอื่นๆ