การที่ประชาชนใช้ทางโดยถือวิสาสะมาเป็นเวลานานเกิน 10 ปีจะถือว่าเจ้าของที่ดินอุทิศให้เป็นทางสาธารณะแล้วหรือไม่

1315 Views
ในปัจจุบันโดยเฉพาะในชนบท เรายังคงจะพบเห็นการใช้ทางในลักษณะเพื่อนบ้านที่ต่างพึ่งพาอาศัยกันเป็นจำนวนมาก นอกจากเพื่อนบ้านแล้วทางดังกล่าวยังอาจถูกใช้เป็นทางผ่านเข้าออกของชาวบ้านในละแวกนั้นมาเป็นเวลานาน จึงมีคำถามว่า การที่ประชาชนใช้ทางโดยถือวิสาสะมาเป็นเวลานานเกิน 10 ปีจะถือว่าเจ้าของที่ดินอุทิศให้เป็นทางสาธารณะแล้วหรือไม่
 
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้ให้ความหมายของคำว่า “วิสาสะ” ไว้ว่าหมายถึง ความคุ้นเคย หรือความสนิทสนม การใช้ทางโดยถือวิสาสะจึงหมายถึงการใช้ทางโดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของที่ดินโดยอาศัยความเกี่ยวพันในทางเครือญาติหรือความคุ้นเคยกัน ดังนั้น แม้ประชาชนจะมีการใช้ทางดังกล่าวเป็นทางผ่านเข้าออกมาเป็นเวลานานเกิน 10 ปี เมื่อเจ้าของที่ดินไม่ได้แสดงเจตนาอุทิศให้เป็นทางสาธารณะโดยตรงหรือโดยปริยาย จึงไม่มีผลทำให้ทางดังกล่าวกลับกลายเป็นทางสาธารณะตาม ป.พ.พ.มาตรา 1304 (2)
 
# ป.พ.พ.มาตรา 1304 มีหลักว่า “สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น รวมทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น (1) ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้งหรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่น ตามกฎหมายที่ดิน (2) ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นต้นว่า ที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ (3) ทรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ เป็นต้นว่า ป้อมและโรงทหาร สำนักราชการบ้านเมือง เรือรบ อาวุธยุทธภัณฑ์”
 
(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 363/2542 และคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.893/2559) 

บทความอื่นๆ