ผู้ให้กู้ซึ่งถูกหลอกลวงให้ปล่อยเงินกู้ แต่สัญญากู้ยืมเงินมีการระบุดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ต่อมาผู้ให้กู้ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน การสอบสวนจะชอบด้วยกฎหมาย และพนักงานอัยการจะมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 หรือไม่

2988 Views
สัญญากู้ยืมเงินระหว่างเอกชนซึ่งทำกันเองนั้น มักจะมีการระบุข้อตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นการขัดต่อ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 และป.พ.พ. มาตรา 654 ถือเป็นความผิดอาญาแผ่นดินมีระวางโทษจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงมีคำถามว่า ผู้ให้กู้ซึ่งถูกหลอกลวงให้ปล่อยเงินกู้ แต่สัญญากู้ยืมเงินมีการระบุดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ต่อมาผู้ให้กู้ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน การสอบสวนจะชอบด้วยกฎหมาย และพนักงานอัยการจะมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 หรือไม่
 
พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 มาตรา 4 มีหลักว่า “บุคคลใดให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินหรือกระทำการใดๆ อันมีลักษณะเป็นการอำพรางการให้กู้ยืมเงิน โดยมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (1) เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ (2) กำหนดข้อความอันเป็นเท็จในเรื่องจำนวนเงินกู้หรือเรื่องอื่นๆ ไว้ในหลักฐานการกู้ยืมหรือตราสารที่เปลี่ยนมือได้เพื่อปิดบังการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด หรือ (3) กำหนดจะเอาหรือรับเอาซึ่งประโยชน์อย่างอื่นนอกจากดอกเบี้ย ไม่ว่าจะเป็นเงิน หรือสิ่งของหรือโดยวิธีการใดๆ จนเห็นได้ชัดว่าประโยชน์ที่ได้รับนั้นมากเกินส่วนอันสมควรตามเงื่อนไขแห่งการกู้ยืมเงิน” ส่วน ป.พ.พ. มาตรา 654 มีหลักว่า “ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละ 15 ต่อปี” การที่ผู้ให้กู้ยืมเงินฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 ประกอบป.พ.พ. มาตรา 654 ย่อมแสดงอยู่ในตัวว่ามีเจตนามุ่งต่อผลประโยชน์อันเกิดจากการกระทำที่ผิดกฎหมายของตน ถือมิได้ว่าเป็นการกระทำโดยสุจริต จะถือว่าเป็นผู้เสียหายโดยชอบด้วยกฎหมายมิได้ ผู้ให้กู้ยืมเงินจึงไม่มีอำนาจร้องทุกข์ เป็นเหตุให้การสอบสวนไม่ชอบ พนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120
 
(เทียบเคียงคำพิพากษาฎีกาที่ 9776/2560)