เมื่อผู้เช่าถึงแก่ความตาย ทายาทของผู้เช่าจะยกข้อตกลงระหว่างผู้ให้เช่ากับผู้เช่าที่ว่า “ในระหว่างสัญญาเช่ายังไม่ครบกำหนดอายุสัญญานั้น ผู้เช่ามีสิทธิที่จะโอนการเช่าให้แก่ผู้อื่นได้แต่ต้องจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินให้แก่ผู้ให้เช่า” ขึ้นต่อสู้ผู้ให้เช่า ในฐานะผู้รับโอนการเช่าได้หรือไม่

409 Views
รูปแบบของสัญญาเช่าโดยทั่วไปมักจะมีการกำหนดข้อตกลงและเงื่อนไขในเรื่องของค่าเช่า ระยะเวลาการเช่า สิทธิในการใช้ทรัพย์สิน ค่าปรับ เงินประกัน การเลิกสัญญา และการห้ามมิให้เช่าช่วง เป็นต้น อย่างไรก็ดี นอกจากข้อตกลงข้างต้นแล้ว ผู้ให้เช่ากับผู้เช่ายังอาจมีข้อตกลงในเรื่องอื่นเพิ่มเติมอีกด้วยก็ได้ จึงมีคำถามว่า เมื่อผู้เช่าถึงแก่ความตาย ทายาทของผู้เช่าจะยกข้อตกลงระหว่างผู้ให้เช่ากับผู้เช่าที่ว่า “ในระหว่างสัญญาเช่ายังไม่ครบกำหนดอายุสัญญานั้น ผู้เช่ามีสิทธิที่จะโอนการเช่าให้แก่ผู้อื่นได้แต่ต้องจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินให้แก่ผู้ให้เช่า” ขึ้นต่อสู้ผู้ให้เช่า ในฐานะผู้รับโอนการเช่าได้หรือไม่
 
การเช่าทรัพย์สินนั้นปกติฝ่ายผู้ให้เช่าย่อมเพ่งเล็งถึงคุณสมบัติของผู้เช่าว่าจะสมควรได้รับความไว้วางใจในการใช้ทรัพย์สินที่เช่าและในการดูแลทรัพย์สินที่เช่าหรือไม่ ฉะนั้น สิทธิของผู้เช่าจึงมีสภาพเป็นการเฉพาะตัว เมื่อผู้เช่าตายสัญญาเช่าเป็นอันระงับไปไม่ตกทอดไปถึงทายาท ที่สัญญาเช่าระบุว่า “ในระหว่างสัญญาเช่ายังไม่ครบกำหนดอายุสัญญาผู้เช่ามีสิทธิที่จะโอนการเช่าให้แก่ผู้อื่นได้แต่ต้องจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินให้แก่ผู้ให้เช่านั้น” เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับการโอนการเช่าในระหว่างที่ผู้ให้เช่าและผู้เช่ายังมีชีวิตอยู่ซึ่งอาจทำได้ตามป.พ.พ.มาตรา 544 และเป็นเพียงบุคคลสิทธิผูกพันเฉพาะคู่สัญญา หาได้ตกทอดมายังทายาทของผู้เช่าแต่อย่างใดไม่
 
(เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 383/2540)
 
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ