การที่ผู้เสียหายในความผิดตาม พ.ร.บ.เช็ค แจ้งสถานที่ที่ผู้ต้องหาออกเช็คไม่ตรงกับความเป็นจริงต่อพนักงานสอบสวน จะมีความผิดฐานแจ้งความเท็จหรือไม่

439 Views
เช็คเป็นตราสารพิเศษอย่างหนึ่ง เนื่องจากหากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินแล้ว ผู้ทรงเช็คหรือผู้เสียหายอาจมีทางเลือกที่จะดำเนินคดีอาญาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 หรือฟ้องผู้สั่งจ่าย ผู้สลักหลัง หรือผู้ค้ำประกัน (อาวัล) เช็ค เป็นคดีแพ่ง อย่างไรก็ดี ผู้ทรงเช็คหรือผู้เสียหายก็อาจถูกผู้ต้องหาดำเนินคดีได้เช่นกัน หากการออกเช็คนั้นไม่เป็นความจริง จึงมีคำถามว่า การที่ผู้เสียหายในความผิดตาม พ.ร.บ.เช็ค แจ้งสถานที่ที่ผู้ต้องหาออกเช็คไม่ตรงกับความเป็นจริงต่อพนักงานสอบสวน จะมีความผิดฐานแจ้งความเท็จหรือไม่
 
ความผิดฐานแจ้งความเท็จตาม ป.อ.มาตรา 137 นั้น ข้อความเท็จที่แจ้งดังกล่าวจะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่สำคัญในคดี มิใช่เป็นเพียงรายละเอียดเท่านั้น การที่ผู้เสียหายแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่า ผู้ต้องหาออกเช็คโดยไม่มีเงินในธนาคารนั้น แม้ผู้เสียหายจะแจ้งสถานที่ที่ผู้ต้องหาออกเช็คและมอบเช็คให้ผู้เสียหายผิดไปจากความจริง ผู้เสียหายก็ไม่ต้องรับผิดฐานแจ้งความเท็จ เพราะถ้าเช็คนั้นมีการใช้เงินหรือขึ้นเงินจากธนาคารได้แล้ว การระบุสถานที่ออกเช็คและรับมอบเช็คนั้น แม้จะผิดไปจากความจริง ก็ไม่เป็นเหตุที่จะเกิดความผิดอันจะต้องมีการสอบสวน เหตุที่จะเกิดความผิดอยู่ที่ว่า เช็คนั้นขึ้นเงินไม่ได้ อันพนักงานสอบสวนจะต้องดำเนินการสอบสวน
 
(เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 284/2507)
 
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ