การกู้ยืมเงินต้องมีการคิดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับหรือไม่

325 Views
คำว่า “ของฟรีไม่มีในโลก” อาจเป็นเพียงคำพูดเปรียบเปรยที่ใช้เมื่อการได้อะไรมาสักอย่างหนึ่งจำต้องตอบแทนด้วยสิ่งใดสิ่งหนึ่งเสมอ แต่แท้จริงแล้วข้อความดังกล่าวเป็นสัจธรรมที่ทุกคนไม่อาจปฏิเสธได้ การกู้ยืมเงินก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ผู้ให้บริการสินเชื่อ บุคคลธรรมดา หรือแม้แต่การขอกู้ยืมจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งเป็นการให้กู้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ยในระหว่างที่นักเรียนหรือนักศึกษายังคงศึกษาอยู่ แต่ผู้กู้ยืมจะต้องชำระเงินคืนหลังจากจบการศึกษาแล้ว 2 ปี โดย กยศ. จะคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อปี ระยะเวลาผ่อนชำระคืนทั้งสิ้นไม่เกิน 15 ปี และคิดเบี้ยปรับในกรณีที่มีการผิดนัดชำระหนี้ เช่น ร้อยละ 12 ต่อปีของงวดเงินที่ค้างชำระ (กรณีค้างชำระไม่เกิน 1 ปี) และร้อยละ 18 ต่อปีของงวดเงินที่ค้างชำระ (กรณีค้างชำระเกิน 1 ปี) โดยเบี้ยปรับดังกล่าวจะคิดเป็นรายวันจนกว่าผู้กู้ยืมจะชำระหนี้ที่ค้างชำระทุกงวดให้มีสถานะเป็นปกติ # แนวคิดเรื่องการคิดดอกเบี้ยมีที่มาจากสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองชนิดหนึ่งตาม ป.พ.พ.มาตรา 650 ถึงมาตรา 656  ซึ่งมีหลักว่า “ผู้ให้กู้ยืมมีหน้าที่ส่งมอบเงินจำนวนหนึ่งให้แก่ผู้กู้ยืม และผู้กู้ยืมตกลงจะชดใช้เงินในจำนวนดังกล่าวคืนให้แก่ผู้ให้กู้ยืมในภายหลัง โดยการกู้ยืมเงินนั้นจะคิดดอกเบี้ยหรือไม่ก็ได้ และสัญญากู้ยืมเงินจะสมบูรณ์ต่อเมื่อมีการส่งมอบเงินที่กู้ยืมกันแล้ว # อาจกล่าวได้ว่าดอกเบี้ยนั้น คือเงินซึ่งชำระจากผู้กู้ยืมให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเพื่อเป็นประโยชน์หรือเป็นค่าตอบแทนการให้กู้ยืมเงินนั่นเอง # ส่วนเบี้ยปรับนั้น ถูกกำหนดขึ้นเพื่อสร้างวินัยในการชำระหนี้ให้กับผู้กู้ยืม ซึ่งมีหลักอยู่ใน ป.พ.พ.มาตรา 379 ถึง มาตรา 385 กล่าวโดยสรุป เบี้ยปรับ คือค่าเสียหายที่คู่สัญญาได้กำหนดไว้ล่วงหน้า โดยลูกหนี้ (ผู้กู้ยืม) ให้สัญญาว่า ถ้าไม่ชำระหนี้ หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรแล้ว ให้เจ้าหนี้ (ผู้ให้กู้ยืม) มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับได้ # เมื่อการกู้ยืมเงินต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ และคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะปฏิบัติการชำระหนี้ตามรายละเอียดและเงื่อนไขของสัญญากันมาแล้วตั้งแต่ต้น หากผู้กู้ยืมผิดนัดชำระหนี้ ผู้ให้กู้ยืมจึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับได้ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาทุกประการ ดังภาษิตละตินที่ว่า Pacta sunt servanda หรือ สัญญาต้องเป็นสัญญา ซึ่งให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้กระทำการโดยสุจริต และการที่คู่สัญญาฝ่ายใดไม่ชำระหนี้ให้ลุล่วงไปนั้นขึ้นชื่อได้ว่าเป็นฝ่ายที่ผิดสัญญา
 
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ

บทความอื่นๆ