ผู้ถือหุ้นซึ่งทำงานในตำแหน่งผู้บริหาร มีลักษณะการทำงานที่เป็นอิสระ ไม่ต้องมาทำงานทุกวัน ไม่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาหรือระเบียบข้อบังคับการทำงานของบริษัท แต่ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน และถูกหักเงินสมทบส่งสำนักงานประกันสังคม ถือเป็นลูกจ้างหรือไม่

805 Views
ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ทำให้หลายบริษัทต้องปิดกิจการ และเลิกจ้างพนักงาน สิ่งที่ตามมาก็คือการต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้กับพนักงานหรือลูกจ้างตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด การมีสถานภาพการเป็นลูกจ้างอยู่ ณ วันที่มีการบอกเลิกสัญญาจ้างจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง มีคำถามว่า ผู้ถือหุ้นซึ่งทำงานในตำแหน่งผู้บริหาร มีลักษณะการทำงานที่เป็นอิสระ ไม่ต้องมาทำงานทุกวัน ไม่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาหรือระเบียบข้อบังคับการทำงานของบริษัท แต่ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน และถูกหักเงินสมทบส่งสำนักงานประกันสังคม ถือเป็นลูกจ้างหรือไม่
 
ลูกจ้าง คือผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างเพื่อรับค่าจ้างโดยอยู่ภายใต้อำนาจบังคับบัญชาของนายจ้าง หมายความว่า ลูกจ้างต้องทำงานตามที่นายจ้างสั่ง และต้องปฏิบัติตามระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้าง หากลูกจ้างฝ่าฝืนนายจ้างสามารถลงโทษได้ จากคำถามดังกล่าวข้างต้น การเข้าไปบริหารงานของบริษัทกระทำในฐานะผู้ถือหุ้น การทำงานเป็นอิสระ ไม่ต้องมาทำงานทุกวัน ไม่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของผู้ใดในบริษัท และไม่ต้องอยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับการทำงาน จึงไม่ใช่ลูกจ้างตามความหมายของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 แม้จะได้รับค่าตอบแทนจากบริษัทเป็นเงินเดือน ก็มิใช่ค่าจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน เมื่อมิใช่ลูกจ้างของบริษัทจึงไม่ต้องหักเงินสมทบส่งสำนักงานประกันสังคม การที่บริษัทหักเงินส่งเป็นเงินสมทบแก่สำนักงานประกันสังคมก็ไม่มีผลทำให้มีฐานะเป็นลูกจ้างของบริษัทแต่อย่างใด
 
(เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 812/2548 และ 2970/2548)
 
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ

บทความอื่นๆ