น้ำท่วมกับเหตุสุดวิสัยและการจ่ายค่าจ้าง

482 Views
เหตุการณ์ฝนตกหนักในช่วงเย็นถึงค่ำของวันที่ 21 กันยายน 2566 ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อการเดินทางไปทำงานหรือกลับบ้านของลูกจ้างเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะคนที่ต้องเข้ากะทำงานในเวลากลางคืน (Night Shift) ทำให้ประเด็นเรื่องน้ำท่วมกับการจ่ายค่าจ้างมีความน่าสนใจ จึงมีคำถามว่า น้ำท่วมภายนอกโรงงาน ทำให้การเข้าออก รวมถึงการขนถ่ายวัตถุดิบเป็นไปด้วยความยากลำบาก นายจ้างจึงประกาศหยุดกิจการชั่วคราว ถือเป็นเหตุสุดวิสัยที่จะทำให้นายจ้างหลุดพ้นจากการชำระค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างหรือไม่
 
คำว่า “เหตุสุดวิสัย” (Force majeure) หมายความว่า เหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้นจะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลที่อยู่ในฐานะและภาวะเช่นนั้น ตามสัญญาจ้างแรงงาน การมอบงานหรือการสั่งให้ลูกจ้างทำงานถือเป็นสิทธิและหน้าที่ของนายจ้าง นายจ้างจึงอาจมอบงานหรือสั่งไม่ให้ลูกจ้างทำงานก็ได้ แต่ต้องจ่ายค่าจ้างหรือสินจ้างให้แก่ลูกจ้างตลอดเวลาที่ตกลงจ้างกันจนกว่าจะมีการเลิกจ้างหรือสัญญาจ้างต่อกัน นายจ้างจะยกขึ้นเป็นเหตุอ้างว่าไม่มีงานให้ลูกจ้างทำจึงไม่จ่ายค่าจ้างให้ไม่ได้ แม้การที่น้ำท่วมจะเป็นอุปสรรคในการผลิตก็เพียงแต่ทำให้การเข้าออกโรงงาน รวมถึงการขนถ่ายวัตถุดิบเป็นไปด้วยความยากลำบากเท่านั้น ตัวโรงงานมิได้ถูกน้ำท่วมด้วย เหตุที่ปิดโรงงานก็เพราะความเสียหายในด้านการขายและการผลิตไม่มีผลกำไร มิใช่โรงงานจะทำการผลิตไม่ได้เสียทีเดียว ซึ่งหนี้ตามสัญญาจ้างแรงงานอันก่อขึ้นผูกพันระหว่างนายจ้างและลูกจ้างนั้น การชำระหนี้ของลูกจ้างอยู่ที่ต้องทำงานให้แก่นายจ้าง และการชำระหนี้ของนายจ้างอยู่ที่การต้องใช้ค่าจ้างให้ การปิดโรงงานนั้นมิได้เป็นเหตุขัดขวางอย่างไรที่จะทำให้ถึงแก่นายจ้างจะใช้ค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างไม่ได้ เพราะยังไม่พ้นวิสัยที่นายจ้างจะชำระหนี้ให้แก่ลูกจ้างได้อยู่ ฉะนั้น เมื่อพฤติการณ์แห่งคดีลูกจ้างพร้อมที่จะทำงานให้แก่นายจ้างเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาไม่ได้สิ้นความสามารถในการทำงานแต่อย่างใด ตราบใดที่ยังไม่มีการเลิกจ้าง หรือมีข้อตกลงไว้เป็นอย่างอื่น ลูกจ้างจึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างต่อไป
 
(เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 118/2525)
 
# เหตุการณ์ตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล แม้จะผิดปกติอยู่บ้างก็ไม่ถือเป็นเหตุสุดวิสัย
 
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ

บทความอื่นๆ