การนำหมา แมว หรือสัตว์เลี้ยงใดๆ ไปปล่อยไว้ที่วัด ถือเป็นการทารุณกรรมสัตว์หรือไม่

386 Views
ปัจจุบันธุรกิจสัตว์เลี้ยงถือเป็นธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จากงานวิจัยพบว่ามีรายได้หมุนเวียนในธุรกิจนี้ถึง 30,000 ล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว เพราะพฤติกรรมการเลี้ยงสัตว์แบบคนรักสัตว์ (Pet Lover) นั้น ได้เปลี่ยนมาเป็นการเลี้ยงสัตว์แบบสมาชิกในครอบครัว (Pet Parent) กันมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากผู้เลี้ยงสัตว์ส่วนใหญ่มักจะมองว่าสัตว์เลี้ยงเป็นลูก และให้ความรักความเอาใจใส่มากกว่าสัตว์เลี้ยงปกติ อย่างไรก็ดี ผู้เลี้ยงบางส่วนอาจไม่เป็นแบบนั้น เพราะเมื่อสัตว์เลี้ยงโตขึ้น และเริ่มเป็นภาระในการดูแลเอาใจใส่ นอกเหนือจากภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตามอายุขัยของสัตว์ จึงอาจไม่ต้องการเลี้ยงสัตว์นั้นอีกต่อไป และสถานที่ที่คนเหล่านั้นมักจะนึกถึงเป็นอันดับแรกเพื่อการปล่อยสัตว์เลี้ยงก็คือ “วัด” จึงมีคำถามว่า การนำหมา แมว หรือสัตว์เลี้ยงใดๆ ไปปล่อยไว้ที่วัด ถือเป็นการทารุณกรรมสัตว์หรือไม่ แอดมินมีคำตอบครับ
 
พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 มาตรา 23 มีหลักว่า “ห้ามมิให้เจ้าของสัตว์ปล่อย ละทิ้ง หรือกระทำการใดๆ ให้สัตว์พ้นจากการดูแลของตนโดยไม่มีเหตุอันสมควร การกระทำดังกล่าวไม่รวมถึงการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองให้แก่ผู้ซึ่งประสงค์จะนำสัตว์ไปดูแลแทน” และมาตรา 32 มีหลักว่า “เจ้าของสัตว์ หรือผู้ใด ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา 23 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท” จากคำถามดังกล่าวข้างต้น แม้การนำหมา แมว หรือสัตว์เลี้ยงใดๆ ไปปล่อยไว้ที่วัด จะไม่ใช่การทารุณกรรมสัตว์ เพราะมิได้กระทำ หรืองดเว้นการกระทำใดๆ ที่ทำให้สัตว์ได้รับความเจ็บปวด หรือความทุกข์ทรมาน แต่การกระทำดังกล่าวถือเป็นการปล่อย ละทิ้ง หรือกระทำการใดๆ ให้สัตว์พ้นจากการดูแลของตนโดยไม่มีเหตุอันสมควร อันเป็นความผิดต่อการจัดสวัสดิภาพสัตว์ เพราะไม่ใช่การเลี้ยง หรือการดูแลให้สัตว์มีความเป็นอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม มีสุขภาพอนามัยที่ดี มีที่อยู่ อาหาร และน้ำอย่างเพียงพอ จึงมีความผิดตามมาตรา 32 นี้ด้วย 

บทความอื่นๆ