ลูกหนี้นำโฉนดที่ดินไปให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นประกันการกู้ยืมเงิน ต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดที่ดินหายและนำรายงานประจำวันไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอออกใบแทนโฉนดที่ดิน เจ้าหนี้ถือเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานแจ้งความเท็จ แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ และใช้หรืออ้างเอกสารราชการซึ่งแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าวหรือไม่

2837 Views
แม้การกู้ยืมเงินโดยนำโฉนดที่ดินมาให้เจ้าหนี้ยึดถือเป็นประกัน จะเป็นวิธีการที่กฎหมายมิได้รับรองไว้ แต่ก็ยังคงเป็นที่นิยมสำหรับคนบางกลุ่ม โดยเชื่อว่าเมื่อมีการผิดนัดชำระหนี้กันแล้วเจ้าหนี้จะบังคับชำระหนี้กันได้ตามกฎหมายเช่นเดียวกับการขายฝากหรือจำนอง จึงมีคำถามว่า ลูกหนี้นำโฉนดที่ดินไปให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นประกันการกู้ยืมเงิน ต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดที่ดินหายและนำรายงานประจำวันไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอออกใบแทนโฉนดที่ดิน เจ้าหนี้ถือเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานแจ้งความเท็จ แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ และใช้หรืออ้างเอกสารราชการซึ่งแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าวหรือไม่
 
แม้ข้อความที่ลูกหนี้แจ้งแก่เจ้าพนักงานตำรวจจะเป็นความเท็จเพราะความจริงโฉนดที่ดินอยู่ที่เจ้าหนี้ และลูกหนี้นำรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานไปใช้อ้างเพื่อขอให้ออกใบแทนโฉนดที่ดินก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องที่ลูกหนี้กระทำต่อเจ้าพนักงานตำรวจผู้รับแจ้งและเจ้าพนักงานที่ดินเท่านั้น มิได้กล่าวพาดพิงไปถึงเจ้าหนี้หรือนำรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานที่เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จไปใช้อ้างต่อเจ้าหนี้ อันจะถือว่าเจ้าหนี้ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำของลูกหนี้ อีกทั้งลูกหนี้มอบโฉนดที่ดินไปเป็นหลักประกันกับเจ้าหนี้เท่านั้น แม้เจ้าหนี้จะมีสิทธิในอันที่จะยึดถือโฉนดที่ดินไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้จนสิ้นเชิง แต่ไม่ได้ก่อให้เกิดสิทธิที่จะบังคับเอาแก่ที่ดินหรือบังคับอย่างใดๆ เอากับโฉนดที่ดินดังกล่าวได้ตามกฎหมาย สิทธิในฐานะเจ้าหนี้สามัญมีอยู่อย่างไรคงมีอยู่เพียงนั้น มิได้ลดน้อยถอยลง เจ้าหนี้จึงมิใช่ผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ.มาตรา 2(4) และไม่มีอำนาจฟ้องลูกหนี้ในความผิดฐานแจ้งความเท็จ แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ และใช้หรืออ้างเอกสารราชการซึ่งแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าวตาม ป.อ.มาตรา 91, 137, 267 และ 268
 
(เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8929/2556 และ 961/2559)
 
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ

บทความอื่นๆ