การจัดคูหาเลือกตั้งให้ผู้ใช้สิทธิหันหน้าเข้าคูหาเลือกตั้ง ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

221 Views
การที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดคูหาเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ให้ผู้ใช้สิทธิหันหน้าเข้าคูหาเลือกตั้ง โดยหันหลังให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง และประชาชนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งกับบุคคลภายนอกที่มาสังเกตการณ์ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
 
ในทางทฤษฎี การเลือกตั้งที่แท้จริงตามระบอบประชาธิปไตยต้องสอดคล้องกับหลักการพื้นฐานของการเลือกตั้งอย่างน้อยที่สุด 5 ประการ คือ (1) หลักการเลือกตั้งโดยทั่วไป (2) หลักการเลือกตั้งโดยตรง (3) หลักการเลือกตั้งโดยเสรี (4) หลักการเลือกตั้งโดยเสมอภาค และ (5) หลักการเลือกตั้งโดยลับ การที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดคูหาเลือกตั้งให้ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งหันหน้าเข้าคูหาเลือกตั้ง โดยหันหลังให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง และประชาชนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งกับบุคคลภายนอกที่มาสังเกตการณ์ที่หน่วยเลือกตั้ง ทำให้การลงคะแนนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งอยู่ในวิสัยที่กรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งอันมีผู้แทนพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น หรือที่ส่งสมัครแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการเลือกตั้งร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วยสามารถมองเห็นการลงคะแนนของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง การจัดคูหารูปแบบดังกล่าวจึงมีผลทำให้การลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่เป็นการลงคะแนนโดยลับ และไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
 
(เทียบเคียงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 9/2549)
 
# กกต. มีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญตามรัฐธรรมนูญ ดังนี้
• ควบคุมและดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้ง ทั้งการเลือกตั้งระดับชาติ ระดับท้องถิ่น รวมทั้งการออกเสียงประชามติ ให้เป็นไปโดยเสมอภาค สุจริต และเที่ยงธรรม และประกาศผลการเลือกตั้ง หรือการออกเสียงประชามติดังกล่าว
• ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งที่ใช้วิธีการแบ่งเขตเลือกตั้ง และจัดให้มีบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
• สืบสวนหรือไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาด สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ นับคะแนนใหม่ รวมทั้งการสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และดำเนินคดีอาญากับผู้สมัคร และผู้ที่เกี่ยวข้อง เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้นั้นกระทำ หรือรู้เห็นกับการกระทำของบุคคลอื่นที่มีลักษณะเป็นการทุจริตหรือทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
• ออกกฎระเบียบ คำสั่ง หรือข้อกำหนดที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงาน
 
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ

บทความอื่นๆ