สิทธิที่จะได้รับเงินประกันชีวิตนั้น ถือเป็นสินสมรสหรือไม่ และหากกรมธรรม์ประกันภัยไม่ได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้ เงินตามสัญญาประกันชีวิตจะตกแก่บุคคลใด

361 Views
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจประกันภัยกลายเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของทุกคน นอกจากการประกันภัยทรัพย์สิน และประกันภัยเกี่ยวกับความรับผิดตามกฎหมายแล้ว ประกันภัยส่วนบุคคลกลายเป็นประกันภัยที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากมีการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด 19 จึงทำให้คาดการณ์กันว่าปัจจุบันคนไทยน่าจะมีการทำกรมธรรม์ประกันภัยส่วนบุคคลเฉลี่ยคนละ 1 ฉบับ อย่างไรก็ดี พวกเราทราบหรือไม่ว่า สิทธิที่จะได้รับเงินประกันชีวิตนั้น ถือเป็นสินสมรสหรือไม่ และหากกรมธรรม์ประกันภัยไม่ได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้ เงินตามสัญญาประกันชีวิตจะตกแก่บุคคลใด
 
สินสมรสนั้น หมายถึงทรัพย์สินที่สามีภริยามีอยู่ในขณะที่เป็นสามีภริยากัน ส่วนสิทธิที่จะได้รับเงินประกันชีวิตนั้น เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากความมรณะของผู้ตายอันมีลักษณะเป็นการประกันชีวิต และเป็นเงินที่เกิดจากสัญญาระหว่างผู้ตายกับบุคคลภายนอกซึ่งได้รับมาหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายไปแล้ว จึงไม่เป็นสินสมรสระหว่างผู้ตายกับคู่สมรส เมื่อตารางกรมธรรม์มิได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้ว่าให้ใช้เงินแก่ทายาททั้งหลายของตนหรือแก่ผู้ใด จึงไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับได้โดยตรง และต้องนำป.พ.พ. มาตรา 4 ว.2 มาใช้บังคับ คืออาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งได้แก่มาตรา 897 ว.1 ซึ่งมีหลักว่า "ถ้าผู้เอาประกันภัยได้เอาประกันภัยไว้โดยกำหนดว่า เมื่อตนถึงซึ่งความมรณะให้ใช้เงินแก่ทายาททั้งหลายของตนโดยมิได้เจาะจงระบุชื่อผู้หนึ่งผู้ใดไว้ จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น ให้ฟังเอาเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัยซึ่งเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้" ดังนั้น เงินประกันชีวิตดังกล่าวจึงต้องแบ่งให้แก่ทายาทของผู้ตายในฐานะสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดก
 
(เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4239/2558)

บทความอื่นๆ