ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยมีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 หรือไม่

83 Views
เนื่องจาก พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 4 ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า หน่วยงานของรัฐ หมายความว่า “กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย” จึงมีคำถามว่า ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งมีกระทรวงการคลัง ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย เป็นผู้ถือหุ้นหลักเกินกว่าร้อยละ 50 ส่งผลทำให้มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ (State Enterprise) โดยอัตโนมัติ เป็น “หน่วยงานของรัฐ” ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 หรือไม่
 
- ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) หรือ Islamic Bank of Thailand (ISBT) จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 โดยมาตรา 5 บัญญัติว่า ให้จัดตั้งธนาคารขึ้นเรียกว่า “ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย” และให้ธนาคารเป็นนิติบุคคล และมาตรา 7 กำหนดทุนเรือนหุ้นของธนาคารไว้ 1,000,000,000 บาท โดยให้ธนาคารขายหุ้นให้แก่กระทรวงการคลัง หรือบุคคลอื่น โดยให้กระทรวงการคลังซื้อหุ้นของธนาคารได้ตามจำนวนที่เห็นสมควร แต่จะต้องไม่เกินร้อยละ 49 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด เห็นได้ว่า พ.ร.บ.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 มีจุดมุ่งหมายให้ธนาคารเป็นนิติบุคคล แต่ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายให้ธนาคารมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ เพราะกระทรวงการคลังซื้อหุ้นของธนาคารได้ไม่เกินร้อยละ 49 แม้ต่อมากระทรวงการคลัง ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย จะเข้าถือหุ้นรวมกันเกินกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดหรืออีกนัยหนึ่งคือ ธนาคารมีส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจมีทุนรวมอยู่ด้วยเกินร้อยละ 50 ซึ่งส่งผลทำให้มีสถานะเป็น “รัฐวิสาหกิจ” ตามคำจำกัดความของคำว่ารัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 แต่ความเป็นรัฐวิสาหกิจของธนาคารมิได้เป็นมาตั้งแต่วาระแรกที่ พ.ร.บ.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 ใช้บังคับ ธนาคารเพิ่งเปลี่ยนสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจในภายหลังเพราะมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้น ธนาคารจึงไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ จึงไม่ใช่ “หน่วยงานของรัฐ” ตามความหมายของมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
 
(ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4213/2566)
 
# พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “รัฐวิสาหกิจ” หมายความว่า
ก. องค์การของรัฐบาลหรือหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ
ข. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ส่วนราชการมีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่าร้อยละ 50
ค. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ส่วนราชการและ/หรือ รัฐวิสาหกิจ ตาม ก. และ/ หรือ ข. มีทุนอยู่ด้วยเกินกว่าร้อยละ 50
ง. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ส่วนราชการ และ/ หรือรัฐวิสาหกิจตาม ค. และ/หรือ ก. และ/หรือ ข. มีทุนรวมด้วยเกินกว่าร้อยละ 50
จ. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ส่วนราชการ และ/หรือรัฐวิสาหกิจตาม ง. และ/หรือ ก. และ/หรือ ข. และ/หรือ ค. มีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่าร้อยละ 50
 
# กรณีผิดสัญญาจ้างแรงงานและมูลละเมิด จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน
 
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ

บทความอื่นๆ