ครูมีสิทธิตีเด็กนักเรียนหรือไม่
ครูมีสิทธิตีเด็กนักเรียนหรือไม่
402 Views
การเฆี่ยนตีถือเป็นการแสดงออกถึงอำนาจที่เหนือกว่าของชนชั้นทางสังคม ซึ่งมีมาตั้งแต่ระบบการปกครองในยุคก่อนจนถึงระบบทาสและไพร่ ต่อมา เมื่อมีการยกเลิกทาสและไพร่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) จึงมีการยกเลิกกฎหมายอาญาที่มีบทลงโทษโดยการเฆี่ยนตี แต่วัฒนธรรมเชิงลบดังกล่าวนี้ยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในสถานศึกษาของรัฐ ผ่านผู้ที่ประกอบวิชาชีพซึ่งทำหน้าที่หลักทางด้านการเรียนการสอนที่ชื่อว่า “ครู” ซึ่งมักจะอาศัยข้ออ้างที่ว่า เพื่อเป็นการอบรมสั่งสอนให้เด็กนักเรียนที่ถูกลงโทษนั้นกลับตนเป็นคนดี ในปี 2548 กระทรวงศึกษาธิการซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการส่งเสริมการศึกษา และควบคุมกำกับการดำเนินงานของสถาบันการศึกษาทั่วประเทศจึงได้ออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษา พ.ศ.2548 โดยได้วางหลักในเรื่องการลงโทษนักเรียนไว้ว่า “การลงโทษนักเรียนที่กระทำความผิดจะต้องมีความมุ่งหมายเพื่อการอบรมสั่งสอน และสามารถลงโทษได้เพียง 4 สถานเท่านั้น คือ 1.ว่ากล่าวตักเตือน 2.ทำทัณฑ์บน 3.ตัดคะแนนประพฤติ 4.ทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และห้ามครูลงโทษนักเรียนด้วยวิธีการที่รุนแรง หรือกลั่นแกล้ง หรือลงโทษด้วยความโกรธ หรือด้วยความพยาบาท ทั้งนี้ โดยให้คำนึงถึงอายุของนักเรียน และความร้ายแรงของพฤติการณ์ประกอบการลงโทษด้วย” จากระเบียบดังกล่าว ครูจึงไม่มีสิทธิลงโทษด้วยการตี หรือใช้ความรุนแรงในรูปแบบใด ๆ กับเด็กนักเรียนได้เลย ในทางกลับกัน การตีเด็กนักเรียนถือเป็นการทำร้ายร่างกาย และเป็นการละเมิดต่อสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child (CRC)) และ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญที่แม้แต่พ่อแม่ หรือผู้ปกครองของเด็กก็ไม่สามารถที่จะละเมิดสิทธิดังกล่าวได้ การตีเด็กนักเรียนจึงเป็นความผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา และเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 หมวด 6 วินัยและการรักษาวินัย มาตรา 85 ที่มีสาระสำคัญว่า “ข้าราชการครูต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการและหน่วยงานการศึกษา มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของรัฐบาลโดยถือประโยชน์สูงสุดของผู้เรียน และไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ อนึ่ง การปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการและหน่วยงานการศึกษา มติคณะรัฐมนตรีหรือนโยบายของรัฐบาล ประมาทเลินเล่อ หรือขาดการเอาใจใส่ระมัดระวังรักษาประโยชน์ของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง” ซึ่งต้องดำเนินการสอบสวนทางวินัย และอาจถูกพิจารณาลงโทษโดยการภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน ลดขั้นเงินเดือน ปลดออก หรือไล่ออกต่อไป ตามความผิดที่ได้กระทำ
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ