บุคคลใดจะมีหน้าที่จัดการศพของพระภิกษุ

195 Views
การอุปสมบทหรือการบวชเป็นภิกษุของชายไทยนั้น ถือเป็นประเพณีปฏิบัติและความเชื่ออย่างหนึ่งที่สืบเนื่องมาจากความเลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชน เพื่อให้บุคคลดังกล่าวได้มีโอกาสศึกษาพระธรรม เข้าใจชีวิต และสามารถนำความรู้ที่ได้มาใช้ในการครองชีวิตต่อไปอย่างมีสติ เมื่อการมรณภาพเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้สภาพบุคคลและความเป็นพระภิกษุสิ้นสุดลง จึงมีคำถามว่า หากพระภิกษุไม่มีทรัพย์สิน และมิได้ตั้งผู้จัดการมรดกหรือบุคคลอื่นให้จัดการทำศพไว้โดยเฉพาะ ระหว่างน้องสาวร่วมบิดามารดาเดียวกัน กับ วัดที่พระภิกษุมรณภาพขณะอยู่ในสมณเพศ บุคคลใดจะมีหน้าที่จัดการศพของพระภิกษุ
 
ป.พ.พ.มาตรา 1649 มีหลักว่า “ผู้จัดการมรดกซึ่งผู้ตายตั้งไว้ย่อมมีอำนาจและหน้าที่ในอันที่จะจัดการทำศพของผู้ตาย เว้นแต่ผู้ตายจะได้ตั้งบุคคลอื่นไว้โดยเฉพาะให้จัดการดังว่านั้น ถ้าผู้ตายมิได้ตั้งผู้จัดการมรดกหรือบุคคลใดไว้ให้เป็นผู้จัดการทำศพ หรือทายาทมิได้มอบหมายตั้งให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการทำศพ บุคคลผู้ได้รับทรัพย์มรดกโดยพินัยกรรมหรือโดยสิทธิโดยธรรมเป็นจำนวนมากที่สุด เป็นผู้มีอำนาจและตกอยู่ในหน้าที่ต้องจัดการทำศพ เว้นแต่ศาลจะเห็นเป็นการสมควรตั้งบุคคลอื่นให้จัดการเช่นนั้น ในเมื่อบุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งร้องขอขึ้น” ตามปัญหา แม้วัดจะถือเป็นทายาทโดยธรรมกรณีพิเศษ ซึ่งมีสิทธิได้รับทรัพย์สินของพระภิกษุผู้มรณภาพที่ได้มาในระหว่างสมณเพศตามมาตรา 1623 และไม่มีกฎหมายใดห้ามมิให้วัดเป็นผู้จัดการมรดกก็ตาม แต่เมื่อพระภิกษุผู้มรณภาพไม่มีทรัพย์สินเป็นมรดก และมิได้ตั้งผู้จัดการมรดกหรือบุคคลอื่นให้จัดการทำศพไว้โดยเฉพาะ และไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจแก่วัดที่พระภิกษุจำพรรษาอยู่ขณะมรณภาพมีอำนาจและหน้าที่จัดการศพไว้ อำนาจและหน้าที่จัดการศพของพระภิกษุดังกล่าวจึงตกได้แก่น้องสาวร่วมบิดามารดาเดียวกันซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ.มาตรา 1629 (3)
 
(ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 546/2523 และ 1127/2524)
 
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ

บทความอื่นๆ