การร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกกับคดีอาญา

450 Views
สำนวนจีนที่ว่า “โหย่ว เฉียน เหนิง สือ กุ่ย ทุย หมอ” (有钱能使鬼推磨) หรือ “มีเงินก็ใช้ผีโม่แป้งได้” นั้น มีความหมายคือ หากมีเงินก็จะสามารถว่าจ้างผู้อื่นหรือแม้แต่ผีเพื่อให้ทำสิ่งต่าง ๆ ให้แก่ตนเองได้ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเงินที่ทำให้ผู้คนต่างแย่งชิงเพื่อให้ได้มาซึ่งการครอบครองของวัตถุสิ่งนี้แม้จะไม่ใช่ของตนเองก็ตาม ในคดีร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกซึ่งแม้จะเป็นคำร้องขอฝ่ายเดียวและควรจะเป็นเรื่องระหว่างเจ้ามรดก (ผู้ตาย) กับทายาท หรือผู้มีส่วนได้เสียเท่านั้น จึงมักจะเกิดปัญหาและกลายเป็นคดีความให้เห็นอยู่เป็นประจำ มีคำถามว่า การที่ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกโดยแถลงต่อศาลว่า ผู้ตายมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินเพียง 1 แปลง และมีทายาทเพียง 1 คนเท่านั้น ซึ่งไม่เป็นความจริง และได้ปลอมลายมือชื่อของทายาทดังกล่าวในหนังสือให้ความยินยอมในการตั้งผู้จัดการมรดกของตนเอง จะมีความผิดอาญาประการใดหรือไม่
 
ป.อ.มาตรา 177 ว.1 มีหลักว่า “ผู้ใดเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล ถ้าความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” และมาตรา 180 ว.1 มีหลักว่า “ผู้ใดนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดี ถ้าเป็นพยานหลักฐานในข้อสำคัญในคดีนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” จากหลักกฎหมายดังกล่าว การที่จะเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จ หรือนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จนั้น ความเท็จและพยานหลักฐานดังกล่าวจะต้องเป็นข้อสำคัญในคดีที่เบิกความ หรือนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานด้วย แต่ในคดีร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกนั้นประเด็นในคดีมีว่า ผู้ร้องเป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลโดยมีเหตุที่จะแต่งตั้งผู้จัดการมรดก และเป็นบุคคลต้องห้ามที่จะเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ.มาตรา 1713 และมาตรา 1718 หรือไม่เท่านั้น ส่วนข้อที่ว่า เจ้ามรดก (ผู้ตาย) จะมีทายาทกี่คน หรือมีทรัพย์มรดกอะไรบ้าง จำนวนเท่าใด ไม่ใช่ประเด็นสำคัญในคดี ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะเบิกความเกี่ยวกับจำนวนทายาทหรือแสดงหลักฐานทรัพย์มรดกไม่ตรงต่อความจริงไปบ้าง จึงไม่มีความผิดฐานเบิกความเท็จ หรือนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ ส่วนหนังสือให้ความยินยอมในการตั้งผู้จัดการมรดก แม้จะเป็นหลักฐานว่าทายาทให้ความยินยอมในการตั้งผู้จัดการมรดกก็ตาม แต่เอกสารดังกล่าวไม่ใช่หลักฐานแห่งการก่อให้เกิดสิทธิในการเป็นผู้จัดการมรดก จึงไม่เป็นเอกสารสิทธิตาม ป.อ.มาตรา 1(9) แต่เป็นเพียงเอกสารธรรมดาตามมาตรา 1(7) การที่ผู้ร้องปลอมลายมือชื่อของทายาทดังกล่าวในหนังสือให้ความยินยอมในการตั้งผู้จัดการมรดก และใช้เป็นเอกสารประกอบคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกของตน จึงมีความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมตาม ป.อ.มาตรา 264 และ 268 ว.1 และเมื่อผู้ร้องเป็นผู้ปลอมเอกสารนั้นเองจึงมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมเพียงกระทงเดียวตามมาตรา 268 ว.2 ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
(สำหรับประเด็นความผิดฐานเบิกความเท็จ หรือนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ เป็นไปตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9/2518, 1692/2536 และ 75/2544)
 
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ

บทความอื่นๆ