หน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูบุตรนั้นเป็นของใคร

389 Views
เรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัวนั้น กฎหมายกำหนดให้สามีและภริยามีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกันในขณะที่ยังเป็นสามีและภริยากัน ตามฐานะและความสามารถของตน และเมื่อบุคคลดังกล่าวนั้นมีบุตร กฎหมายก็กำหนดให้มีหน้าที่ร่วมกันในการอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ด้วย ปัญหาคือ หน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูบุตรดังกล่าว เป็นของบิดาและมารดาในทุกกรณีหรือไม่ แอดมินมีคำตอบครับ
 
ในทางกฎหมายนั้น บุตรย่อมเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของมารดาเสมอ จึงไม่มีปัญหาเรื่องหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดู แต่สำหรับบิดานั้น บุตรและบิดาที่จำต้องมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกันนั้น หมายถึง บุตรและบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ดังนั้น บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงไม่มีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรแต่อย่างใด อย่างไรก็ดี การที่จะทำให้บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกลับเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายนั้น อาจกระทำได้ 3 วิธี ได้แก่ 1 บิดาที่มิชอบด้วยกฎหมายได้จดทะเบียนรับรองบุตร (กรณีนี้ต้องได้รับความยินยอมจากเด็กและมารดาของเด็กด้วย) หรือ 2 บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจดทะเบียนสมรสกับมารดาในภายหลัง (กรณีนี้เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด ถ้าทั้งคู่สมัครใจจดทะเบียนสมรสกัน) หรือ 3 ศาลมีคำพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดา (กรณีที่บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ยอมจดทะเบียนรับรองบุตร โดยมารดาสามารถนำคดีขึ้นฟ้องร้องต่อศาล เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่าเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูไปในคดีเดียวกัน โดยคิดย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดว่าเด็กเป็นบุตรของบิดาจนถึงวันที่เด็กเกิด อย่างไรก็ดี ค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ ศาลอาจให้หรือไม่เพียงใดก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับ และพฤติการณ์แห่งกรณี)
 
# สำหรับบทความที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ พวกเราสามารถอ่านเนื้อหาที่แอดมินได้เคยลงไว้แล้ว เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564 นะครับ

บทความอื่นๆ