ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงจะอ้างความสุจริตขึ้นต่อสู้ได้หรือไม่

409 Views
การมอบอำนาจ คือ การที่บุคคลหนึ่งเรียกว่า “ตัวการ” มอบให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า “ตัวแทน” มีอำนาจกระทำการแทน โดยมีผลทางกฎหมายเสมือนหนึ่งว่าตัวการเป็นผู้กระทำการนั้นด้วยตนเอง ทั้งนี้ กิจการใดที่กฎหมายกำหนดว่าต้องทำเป็นหนังสือ การแต่งตั้งตัวแทนเพื่อให้ทำกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย เช่น การซื้อขายที่ดิน เป็นต้น จึงมีคำถามว่า เจ้าของที่ดินต้องการขายที่ดินแต่ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจโดยมิได้กรอกข้อความให้ชัดเจน พร้อมมอบโฉนดที่ดิน สำเนาทะเบียนบ้าน และสำเนาบัตรประชาชนของตนให้ผู้รับมอบอำนาจไปดำเนินการ ต่อมาผู้รับมอบอำนาจนำไปจดทะเบียนจำนองกับธนาคาร เจ้าของที่ดินจะอ้างความสุจริตขึ้นต่อสู้กับธนาคารได้หรือไม่
 
พฤติการณ์ของเจ้าของที่ดินที่ได้ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจโดยมิได้กรอกข้อความใดๆ ให้ชัดเจนว่าต้องการจะขายที่ดิน แล้วยังมอบโฉนดที่ดิน สำเนาทะเบียนบ้าน และสำเนาบัตรประชาชนของตนให้ผู้รับมอบอำนาจไปดำเนินการนั้น เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้รับมอบอำนาจนำไปใช้ในกิจการอื่นด้วยการกรอกเพิ่มเติมข้อความว่า ให้นำที่ดินไปจดทะเบียนจำนองแทนตน ถือได้ว่าเจ้าของที่ดิน (ผู้มอบอำนาจ) ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จึงยกเอาผลที่เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตนนั้นขึ้นให้การต่อสู้กับธนาคารซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับจำนองโดยสุจริตเพื่อให้ตนพ้นจากความรับผิดหาได้ไม่
 
(เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15964/2553)
 
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ

บทความอื่นๆ