กรณีใดบ้างที่ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้าง กรณีไม่ร้ายแรง

397 Views
วันนี้แอดมินมีเรื่องน่าสนใจที่เกี่ยวกับกฎหมายแรงงานมาเล่าสู่กันฟังอีกเช่นเคยนะครับ ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เมื่อมีจุดเริ่มต้น ก็ย่อมต้องมีจุดสิ้นสุด ชีวิตการทำงานก็เช่นเดียวกันครับ ย่อมต้องมีจุดสิ้นสุดไม่วันใดก็วันหนึ่ง ขึ้นอยู่กับว่าจะสิ้นสุดลงแบบไหนและเมื่อไหร่เท่านั้น การเลิกสัญญาจ้างแรงงานนั้น อาจเกิดจากการที่นายจ้างหรือลูกจ้างเป็นผู้แสดงเจตนาก็ได้ กรณีที่ลูกจ้างแสดงเจตนาลาออกเองมักจะไม่เป็นปัญหา เพราะลูกจ้างยอมสละสิทธิบางประการที่พึงมีตามกฎหมายด้วยตนเอง แต่กรณีที่มักจะเป็นประเด็นข้อพิพาทขึ้นสู่ศาลแรงงานนั้น คือกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายแสดงเจตนาเลิกจ้างลูกจ้างทันที โดยไม่มีการตักเตือนเป็นหนังสือก่อน และไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง โดยอ้างว่าลูกจ้างกระทำการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม เป็นกรณีร้ายแรง จึงมีคำถามว่า มีกรณีใดบ้างที่ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้าง "กรณีไม่ร้ายแรง" แอดมินมีคำตอบครับ
 
มาตรา 119 (4) แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มีหลักว่า นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างกระทำการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่เป็นกรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน ทั้งนี้ หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด คำว่าข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานนั้นเป็นคำที่พวกเราทุกคนน่าจะมีความเข้าใจกันได้ดีอยู่แล้ว แอดมินจึงขออนุญาตไม่กล่าวถึงนะครับ ส่วนคำว่าระเบียบ หมายถึง แนวปฏิบัติหรือประเพณีสำหรับลูกจ้างในการทำงาน และคำสั่ง หมายถึง ข้อความสื่อสารเพื่อให้ทำตาม ซึ่งทั้งระเบียบและคำสั่งนั้นอาจอยู่ในรูปแบบของวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้ ทั้งนี้ หลักการพิจารณาว่า การกระทำความผิดใดของลูกจ้างจะถือเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างกรณีร้ายแรงหรือไม่นั้น จะต้องพิเคราะห์ถึงปัจจัยต่างๆ ประกอบกันหลายประการ เช่น ตำแหน่งหน้าที่การงานของลูกจ้าง ลักษณะ และพฤติการณ์ ตลอดจนผลเสียที่เกิดขึ้นจากการกระทำผิดดังกล่าวว่ามีมากน้อยเพียงใด สำหรับตัวอย่างความผิดที่ถือว่าเป็นกรณีไม่ร้ายแรง มีอะไรบ้างนั้น มาดูกันเลยครับ
# ลูกจ้างเล่นแชร์ในที่ทำงาน นอกเวลาทำงาน (ไม่รวมถึงการพนัน หรือการเล่นหวยใต้ดิน)
# ลูกจ้างไม่สนใจในการประชุม มาทำงานสาย หรือกลับก่อนเวลา
# ลูกจ้างเล่นหมากรุกหมากฮอสในเวลาทำงาน
# ลูกจ้างสูบบุหรี่ในที่ทำงาน เช่น สูบในห้องน้ำ (ไม่ได้อยู่ใกล้วัตถุไวไฟ)
# ลูกจ้างดื่มสุรานอกเวลาทำงาน และชกต่อยกับเพื่อนร่วมงาน
# ลูกจ้างชกต่อยกันเพียงชั่วครู่แล้วแยกย้ายกันเนื่องมาจากความเข้าใจผิด
# ลูกจ้างผู้โดยสารตอกบัตรลงเวลาแทนลูกจ้างผู้ขับขี่ หรือใช้เพื่อนร่วมงานตอกบัตรลงเวลาแทนในขณะที่กำลังซื้อข้าวอยู่และสามารถเข้างานได้ทัน
# ลูกจ้างขายสินค้าของบริษัทคู่แข่งให้แก่เพื่อนร่วมงานเพียงจำนวนเล็กน้อย และไม่ปรากฏว่านายจ้างเสียหายเพียงไร
# ลูกจ้างด่าหัวหน้างานว่า “อีหัวล้าน” หรือ “ตอแหล”
# ลูกจ้างนำรถยนต์ส่วนตัวไปรับส่งแขกของนายจ้างโดยได้รับค่าตอบแทนเพียงเล็กน้อย
# ลูกจ้างแสดงกิริยาไม่นอบน้อมและสุภาพต่อลูกค้าของนายจ้าง
# ลูกจ้างละทิ้งหน้าที่ไปเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ นานประมาณ 15 นาที และไม่ปรากฏว่านายจ้างเสียหายอย่างไร
# ลูกจ้างนำถุงพลาสติกที่นายจ้างนำไปทิ้งถังขยะออกไปนอกสถานประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต
# ลูกจ้างไม่ยอมย้ายไปทำงานในอีกแผนกหนึ่งตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของนายจ้าง
# ลูกจ้างที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดทำเอกสารถือวิสาสะใช้กระดาษและเครื่องถ่ายเอกสารของนายจ้าง
# ลูกจ้างยืนยันรับรองวุฒิการศึกษาอันเป็นเท็จ แต่วุฒิการศึกษาดังกล่าวไม่ใช่สาระสำคัญของการจ้างงาน
# ลูกจ้างดื่มเบียร์ก่อนเลิกงาน 5 นาที แต่ไม่ปรากฏอาการมึนเมาหรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้าง
เป็นต้น