ในคดีหมิ่นประมาทนั้น ศาลจะสั่งให้จำเลยโฆษณาคำขออภัยต่อโจทก์ได้หรือไม่

371 Views
การใส่ร้ายผู้อื่นให้ได้รับความเสียหายนั้น คือการกระทำที่จ้องทำลายผู้อื่นในทางร้ายด้วยใจอคติ โดยอาจแสดงผ่านการพูด การเขียน หรือการแสดงกิริยาต่างๆ ในทางการแพทย์และทางจิตวิทยานั้น ได้อธิบายสาเหตุของการกระทำดังกล่าวไว้ 2 ประการคือ 1. ผู้กระทำเคยเป็นคนที่ล้มเหลวมาก่อน เช่น การไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตการเรียนและการทำงาน เมื่อเห็นคนที่ประสบความสำเร็จมากกว่า จึงทำให้รู้สึกเจ็บปวด ทนไม่ได้จนต้องหาทางกลั่นแกล้งใส่ร้ายเพื่อให้คนๆ นั้นล้มเหลวเช่นเดียวกับตนเอง หรือ 2. เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงพื้นฐานการเลี้ยงดูของครอบครัว และความเสื่อมทางจิตใจของผู้กระทำ ทั้งนี้ อาจมาจากการมีปมด้อยในวัยเด็ก และความรู้สึกที่อิจฉาริษยาพี่น้องของตนเองจนกลายมาเป็นการอิจฉาริษยาผู้อื่น อย่างไรก็ดี การใส่ร้ายผู้อื่นต่อบุคคลที่สามนั้นถือเป็นการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งผู้กระทำอาจต้องรับโทษทางอาญา และต้องกระทำการตามคำสั่งของศาลอีกด้วย จึงมีคำถามว่า ในคดีหมิ่นประมาทนั้น ศาลจะสั่งให้จำเลยโฆษณาคำขออภัยต่อโจทก์ได้หรือไม่ แอดมินมีคำตอบครับ
 
ป.อ.มาตรา 332 มีหลักว่า “ในคดีหมิ่นประมาทซึ่งมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด ศาลอาจสั่ง (1) ให้ยึด และทำลายวัตถุหรือส่วนของวัตถุที่มีข้อความหมิ่นประมาท (2) ให้โฆษณาคำพิพากษาทั้งหมด หรือแต่บางส่วนในหนังสือพิมพ์หนึ่งฉบับหรือหลายฉบับ ครั้งเดียวหรือหลายครั้ง โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา” จากหลักกฎหมายดังกล่าว กำหนดให้คดีหมิ่นประมาทซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด ศาลอาจสั่งให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาทั้งหมด หรือแต่บางส่วนในหนังสือพิมพ์ หนึ่งฉบับหรือหลายฉบับ ครั้งเดียวหรือหลายครั้ง โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณาได้เท่านั้น มิได้มีกฎหมายให้อำนาจศาลสั่งให้จำเลยโฆษณาคำขออภัยด้วย ดังนั้น หากศาลพิพากษาให้จำเลยโฆษณาคำขออภัยด้วย ย่อมเป็นการลงโทษจำเลย นอกเหนือจากโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ต้องห้ามตาม ป.อ.มาตรา 2 วรรค 1 ซึ่งระบุว่า “บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย”
(เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3/2542)

บทความอื่นๆ