“แชร์ลูกโซ่” คืออาชญากรรมทางเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่หรือไม่

411 Views
แอดมินเขียนบทความนี้ เนื่องจากแฟนเพจท่านหนึ่งซึ่งเป็นคุณหมอบอกว่าเรื่องนี้มีความน่าสนใจ และคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับพวกเราให้ไม่ต้องตกเป็นเหยื่อของขบวนการคนหลอกคนแบบที่กำลังเป็นข่าวอยู่ในตอนนี้นะครับ เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป แนวคิดในการหารายได้ของคนก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน ตอนเป็นเด็กเราเคยถูกปลูกฝังว่าการที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตนั้น จะต้องขยันเรียนและตั้งใจทำงานเพื่อใช้วิชาความรู้ที่มีนั้นมาแลกกับเงิน หรือที่ภาษาสมัยใหม่เรียกว่า Active Income แต่แท้จริงแล้วการจะมีรายได้ยังมีอีกแนวคิดหนึ่งที่เรียกว่า Passive Income หรือการที่ให้เงินหรือทรัพย์สินทำงานให้กับเรา จริงๆ แล้ว Passive Income สามารถมีได้หลายรูปแบบ เช่น การเล่นหุ้น การอัดคลิปเพื่อลงใน YouTube หรือ TikTok เมื่อมีคนมาดูเราก็จะได้รับส่วนแบ่งรายได้นั้น หรือแม้แต่การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์แล้วปล่อยเช่า เป็นต้น การลงทุนน้อยแล้วได้ผลกำไรมหาศาลเช่นนี้ ทำให้บุคคลบางกลุ่มเกิดแนวคิดในการระดมทุนจากประชาชนรายย่อยเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินก้อนใหญ่ ตามวัตถุประสงค์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ระดมทุน ซึ่งถือเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจประเภทหนึ่ง จึงมีคำถามว่า “แชร์ลูกโซ่” คืออาชญากรรมทางเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่หรือไม่ แอดมินมีคำตอบครับ
 
แชร์ลูกโซ่ คือ การหลอกลวงในรูปแบบของการชักชวนให้ประชาชนนำเงินมาลงทุนโดยไม่จำกัดจำนวน โดยมักจะมีการนำเสนอแผนการลงทุน และมีการยืนยันว่าจะได้รับผลตอบแทนสูง ภายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบตามแต่ละยุคแต่ละสมัยของการหลอกลวง เช่น การชักชวนให้ลงทุนในน้ำมัน สินค้าเกษตรกรรม การขายตรง การออมเงิน การเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ การลงทุนในทองคำ การลงทุนในรูปเเบบสหกรณ์ การฌาปนกิจสงเคราะห์ การลงทุนทำงานที่บ้าน การซื้อเเพ็กเกจทัวร์ การให้ซื้อสินค้าแบรนด์เนมแล้วนำออกให้เช่า การตั้งบริษัทเพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ และการทำเกษตรกรรมและปศุสัตว์ เป็นต้น ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วไม่มีการลงทุนแต่อย่างใด แต่ใช้วิธีการนำเงินของผู้ลงทุนรายใหม่บางส่วนมาเวียนเป็นผลตอบแทนให้ผู้ลงทุนรายเก่าตามที่กล่าวอ้างในตอนแรก เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและมีผู้ลงทุนรายใหม่เข้ามาเรื่อยๆ อย่างไรก็ดี เมื่อไม่สามารถหาผู้ลงทุนรายใหม่เพิ่มได้ หรือมีการระดมทุนจนได้จำนวนเงินเป็นที่น่าพอใจแล้ว ผู้ระดมทุนก็จะปิดกิจการหรือหนีไป ในอดีต แชร์ลูกโซ่ที่โด่งดังได้แก่ แชร์แม่ชม้อย แชร์น้ำมัน แชร์ชาร์เตอร์ แชร์ออมเงินออมทอง แชร์บัตรเติมเงิน แชร์ลูกปัด แชร์ลอตเตอรี่ แชร์แม่มณี ยูฟัน forex3d เป็นต้น จากสถิติย้อนหลัง 10 ปี มีผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการถูกหลอกลวงในลักษณะแชร์ลูกโซ่มากกว่า 50,000 คน รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 50,000 ล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้รูปแบบของขบวนการแชร์ลูกโซ่มีการพัฒนาให้มีความทันสมัย และน่าเชื่อถือ โดยมาในลักษณะของแอปพลิเคชั่น หรือเว็บไซต์ต่างๆ เพื่อให้สามารถเข้าถึงประชาชนได้เป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ผู้ที่กระทำความผิดหรือมีส่วนเกี่ยวข้องเป็นผู้ร่วมกระทำผิด หรือสนับสนุนการกระทำผิด จะมีความผิดดังนี้ 1. ความผิดฐานกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน เป็นผู้โฆษณาชักชวนให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป โดยตนรู้อยู่แล้วว่าเป็นการกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชนตาม พ.ร.ก. การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 4, มาตรา 5 และมาตรา 12 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 5-10 ปี และปรับตั้งแต่ 500,000–1,000,000 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ 2. ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3. ความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (1) ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และ 4. ความผิดฐานฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งมีอัตราโทษจําคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และหากพวกเราต้องการร้องเรียน หรือสงสัยว่าการลงทุนดังกล่าวคือแชร์ลูกโซ่หรือไม่ ควรติดต่อสอบถามที่สายด่วน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โทร 191 หรือศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ โทร 1599 หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) โทร 1202 หรือ 02-831-9888 หรือศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ โทร 1359 กด 1 หรือจะติดต่อที่สถานีตำรวจทุกแห่งทั่วประเทศ ก็ได้ครับ ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า “แชร์ลูกโซ่” นั้นไม่ใช่อาชญากรรมทางเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่แต่อย่างใด ไม่ว่าจะเปลี่ยนชื่อเรียกเป็นแบบใดก็ตาม สิ่งที่ใหม่สำหรับแชร์ลูกโซ่นั้นมีเพียงอย่างเดียวคือ “ผู้ถูกหลอกลวงให้ลงทุนรายใหม่” เท่านั้น ฉะนั้น ก่อนการลงทุนใดๆ เราจึงควรถามตัวเองก่อนว่า มีความเข้าใจในเรื่องนั้นมากน้อยเพียงใด และเตือนสติตัวเองโดยตลอดเวลาว่า ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่จะได้มาง่ายๆ ทุกอย่างล้วนแต่มีต้นทุนของตัวเอง อย่าตกเป็นเหยื่อเพียงเพราะความโลภหรือความไม่รู้ เพราะ “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนจึงควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน” นะครับ

บทความอื่นๆ