การที่ลูกค้าเลือกหยิบสินค้าในร้านสะดวกซื้อแล้วนำไปซุกซ่อนในเสื้อผ้าโดยมีเจตนาที่จะไม่ชำระราคา เมื่อถูกผู้ขายจับได้ จะอ้างว่ากรรมสิทธิ์ในสินค้านั้นได้โอนมาเป็นของตนแล้วตามสัญญาซื้อขายได้หรือไม่

398 Views
การขายสินค้าในร้านสะดวกซื้อนั้น ผู้ขายมักจะนำสินค้ามาวางจำหน่ายไว้ตามชั้นแสดงสินค้า พร้อมทั้งติดราคาสินค้า เพื่อให้เกิดความสะดวกกับผู้ซื้อในการทราบราคาล่วงหน้าก่อนการชำระราคา อย่างไรก็ดี การโอนกรรมสิทธิ์ในสัญญาซื้อขายนั้น ป.พ.พ. มาตรา 458 ระบุว่า “กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายนั้น ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกัน” จึงมีคำถามว่า การที่ลูกค้าเลือกหยิบสินค้าในร้านสะดวกซื้อแล้วนำไปซุกซ่อนในเสื้อผ้าโดยมีเจตนาที่จะไม่ชำระราคา เมื่อถูกผู้ขายจับได้ จะอ้างว่ากรรมสิทธิ์ในสินค้านั้นได้โอนมาเป็นของตนแล้วตามสัญญาซื้อขายได้หรือไม่ แอดมินมีคำตอบครับ
 
หลักเรื่องการโอนกรรมสิทธิ์ตามบทบัญญัติของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น เป็นหลักการพิจารณาเกี่ยวกับความรับผิดในทางแพ่งของสัญญาซื้อขายที่ได้มีการกระทำโดยสุจริต ซึ่งเป็นคนละกรณีกับการพิจารณาความรับผิดในทางอาญา เนื่องจากทรัพย์สินของผู้ขายที่วางไว้ในร้านสะดวกซื้อเพื่อจำหน่ายแก่ผู้มาซื้อ กรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองในทรัพย์สินดังกล่าวย่อมเป็นของผู้ขาย ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้กระทำ (ลูกค้า) เอาไปซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวด้วยวิธีการนำไปซุกซ่อนไว้ในเสื้อผ้า โดยมีเจตนาที่จะไม่ชำระราคาทรัพย์สินนั้น จึงเป็นการกระทำโดยเจตนาทุจริต เพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้ขายดังกล่าว จึงครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์แล้ว (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6656/2551)