เหตุใดผู้ลักกระแสไฟฟ้าจึงมีความผิดความผิดฐานลักทรัพย์ได้

1196 Views
คำนิยามของคำว่า “ทรัพย์” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ถูกระบุอยู่ในมาตรา 137 โดยมีความหมายว่า “วัตถุมีรูปร่าง” ส่วนคำว่า “ทรัพย์สิน” นั้นระบุอยู่ในมาตรา 138 ซึ่งมีความหมายว่า “หมายความรวมถึงทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้” จากคำนิยามดังกล่าวทำให้เราทราบว่า ทรัพย์นั้นเป็นวัตถุที่มีรูปร่าง ซึ่งก็น่าจะสอดคล้องกับความเข้าใจของพวกเรา และเห็นตัวอย่างได้อย่างชัดเจน เช่น การลักเงิน ลักกระเป๋า หรือลักรถยนต์ เป็นต้น อย่างไรก็ดี เราอาจเคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับเรื่องการลักกระแสไฟฟ้า จึงมีคำถามว่า เหตุใดผู้ลักกระแสไฟฟ้าจึงมีความผิดความผิดฐานลักทรัพย์ได้ แอดมินมีคำตอบครับ
 
คำว่าทรัพย์หรือทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อ.) นั้น ไม่ได้แยกใช้ต่างกันโดยเคร่งครัดเสมอไป ยกตัวอย่างเช่น (1) มาตรา 337 และ มาตรา 338 ในเรื่องความผิดฐานกรรโชก และรีดเอาทรัพย์นั้น ใช้คำว่า “ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน” (2) มาตรา 352 ว.2 ในเรื่องความผิดฐานยักยอก ใช้คำว่า “ทรัพย์สิน” (3) มาตรา 357 ในเรื่องความผิดฐานรับของโจร ใช้คำว่า “ทรัพย์” อันได้มาโดยการกระทำความผิด..... และ (4) มาตรา 341 ในเรื่องความผิดฐานฉ้อโกง ใช้คำว่า “ทรัพย์สิน” ดังนั้น หากฉ้อโกงแล้วได้ไปซึ่ง “ทรัพย์สิน” จากผู้ถูกหลอกลวง บุคคลที่ 3 ผู้ที่รับทรัพย์สินอันได้มาจากการฉ้อโกงนั้นจะไม่ผิดฐาน “รับของโจร” ได้อย่างไร ดังนั้น “แม้จะถือว่าแรงไฟฟ้าเป็นวัตถุที่ไม่มีรูปร่าง แต่ก็มีราคา ถือเอาได้ และนำพาไปเสียจากเจ้าของได้ ทั้งสามารถวัดปริมาณที่เอาไปได้ด้วย จึงต้องมีความผิดฐานลักทรัพย์เหมือนกับการเอาทรัพย์อื่นๆ ไปเช่นเดียวกัน” คำว่า “ทรัพย์” ในความผิดฐานลักทรัพย์นั้น จึงไม่ได้หมายความแคบแต่เฉพาะทรัพย์ที่จับต้องได้เท่านั้น สิ่งที่อยู่ในความครอบครองของคน และเอาไปจากเจ้าของได้ก็เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ทั้งนั้น ดังนั้น ความหมายของคำว่า “ทรัพย์” ตามกฎหมายอาญาจึงไม่จำเป็นต้องเหมือนกับความหมายของคำว่า “ทรัพย์” ของกฎหมายแพ่ง เพราะในกรณีนี้ ความมุ่งหมายของกฎหมายอาญาและกฎหมายแพ่งเป็นคนละอย่าง การลักกระแสไฟฟ้าจึงเป็นผิดตามป.อ. มาตรา 334 หรือ 335 แล้วแต่กรณี

(เครดิต: ความเห็นของท่านอาจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ในหมายเหตุท้ายคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 877/2501 (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 8/2501) และท่านอาจารย์หยุด แสงอุทัย ในหมายเหตุท้ายคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 839/2483)

บทความอื่นๆ